สธ.จัดหลักสูตร C – Course เพิ่มศักยภาพบุคลากร เน้นบริหารจัดการ-ประสานงานระหว่างประเทศ ในภาวะภัยพิบัติ
- สำนักสารนิเทศ
- 91 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมการดูแลประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 “เดินทางปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสนับสนุนการทำงานเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน ให้โรงพยาบาลในสังกัดเตรียมพร้อมบุคลากร สถานที่ ยา เวชภัณฑ์ จัดทีมกู้ชีพประจำตามเส้นทางสายหลัก และให้ อสม. ช่วยดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน สอดส่องร้านค้าทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ
วันนี้ (16 ธันวาคม 2567) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสราวุธ อ่อนละมัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมแถลงข่าว ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “เดินทางปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 คาดว่าประชาชนจะมีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว รัฐบาลจึงจัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและวันหยุด ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อจัดการความเสี่ยงสำคัญ “เร็ว เมา หมวก” ภายใต้หัวข้อรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เป็นการอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชน โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “เดินทางปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ให้ อสม. เป็นทีมสนับสนุนดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน และสอดส่องร้านค้าทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
“ขอย้ำเตือนประชาชน หากดื่มต้องไม่ขับ หากขับต้องไม่ดื่ม ไม่ขับรถเร็ว และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หากง่วงขณะขับรถควรหยุดพักที่จุดพักรถ ดื่มเครื่องดื่มคลายง่วงและเพิ่มความสดชื่น หากขับรถไกล ต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ สวมหมวกกันน็อคหรือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและเพื่อนร่วมทาง” นายสมศักดิ์กล่าว
นายสราวุธ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงเทศกาลและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่เจ้าหน้าที่นำส่ง โดยรายงานผลหลังได้รับตัวอย่างภายใน 24 – 48 ชั่วโมง สำหรับบุคลากรสาธารณสุข และอสม. ร่วมสนับสนุนด่านชุมชน จุดบริการประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะมาจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ หรือหลับใน
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง, มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ, จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐานและหน่วยปฏิบัติการระดับสูงประจำตามเส้นทางสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการ เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ทั้งนี้ หากประชาชนบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่รุนแรงเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่
นพ.ภานุมาศ กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุสะสม 2,288 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,307 ราย เสียชีวิต 284 ราย ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดคือ จักรยานยนต์ ร้อยละ 80.7 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุได้ ขณะเดียวกันยังพบร้านค้ากระทำความผิด ทั้งขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย รวมถึงขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งกรมควบคุมโรคในฐานะผู้รับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในช่วงเทศกาล ให้มีการบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศอย่างเข้มข้น รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการเพื่อป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ หากประชาชนพบผู้กระทำผิดทั้งการขายในสถานที่ห้ามขาย เวลาห้ามขาย (ขายได้ในช่วง 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น.) การเร่ขาย หรือการโฆษณาส่งเสริมการขาย โทรแจ้งได้ที่ ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค หมายเลข 0 2590 3342 หรือ สายด่วน 1422
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้กำชับให้ อสม. ทั่วประเทศ ดูแลประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ ด่านชุมชน โดยมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้าน/ชุมชนไม่ให้ดื่มแล้วขับ รวมทั้งประเมินสภาวะการมึนเมา คัดกรองคนในชุมชนหรือหมู่บ้าน ณ ด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ออกถนนใหญ่ และยังได้เพิ่มมาตรการเชิงรุก โดยนำประสบการณ์จากช่วงควบคุมโควิด 19 “อสม.เคาะประตูบ้าน” มาปรับใช้ในการลดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มแล้วขับ โดยให้ อสม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นออกเยี่ยมบ้านที่มีการดื่มสังสรรค์ เพื่อเตือนสติไม่ให้ผู้ดื่มสุราออกมาขับขี่ รวมทั้งให้ช่วยสอดส่องร้านค้าในชุมชนไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมายจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศักยภาพ อสม. ให้มีความรู้ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างถูกวิธีก่อนส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตหรือความพิการได้
********************************16 ธันวาคม 2567