กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยอาการผู้ป่วยวัณโรคในระยะเริ่มแรก อาจไม่แสดงอาการออกมา ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อวัณโรคร่างกายจะมีภูมิคุ้มกัน มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรค แนะวิธีป้องกันวัณโรค โดยเน้นย้ำให้ประชาชนรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และเข้ารับการตรวจหาวัณโรคอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยร่วมบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยวัณโรค
          วันนี้ (6 ธันวาคม 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรค เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อจากผู้ป่วยไอ จาม เชื้อจะออกมากับละอองเสมหะและลอยอยู่ในอากาศผู้ใกล้ชิดที่สูดหายใจเอาเชื้อเข้าไปจะมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้ แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อมาแล้วไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกราย เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับเชื้อวัณโรค มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่จะป่วยเป็นวัณโรค ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคนั้นมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงจากโรคประจำตัว เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวาน เด็ก ผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือผู้ที่อาศัยร่วมบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไป 
          วัณโรคยังเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขในทั่วโลก ในปี 2023 องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดประมาณการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 113,000 คน หรือมีอัตราป่วย 157 คน ต่อแสนประชากร และมีผู้เสียชีวิตด้วยวัณโรคประมาณ 13,000 คน
          อาการแสดงของผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยจะไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ น้ำหนักลด มีเหงื่อออกผิดปกติในเวลากลางคืน เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ทั้งนี้ทั้งนั้นการป่วยระยะเริ่มแรกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นจนกว่าปอดจะถูกทำลายโดยเชื้อวัณโรค ทำให้ร่างกายแสดงอาการดังกล่าวออกมาให้เห็น ถ้าหากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจหาวัณโรคอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง และกลุ่มที่สำคัญคือผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคควรรีบไปพบแพทย์ทันที และต่อเนื่องทุกๆ 6 เดือน อย่างน้อย 2 ปี
          นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติดทุกชนิด สำหรับผู้ป่วยวัณโรคควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
          ทั้งนี้ ในปัจจุบันวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มียารักษาที่มีประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้ดี หากรับประทานยาให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ แต่ก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำได้เช่นกันหากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบตามกำหนด อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีอาการแสดงที่เป็นสัญญาณของวัณโรคที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะมีเพียงอาการใดอาการหนึ่ง เช่น อาการไอเล็กน้อย หรือมีเพียงไข้ต่ำๆ เป็นๆ หายๆ หรือรู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สัมผัสร่วมบ้าน แนะนำว่าควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองวัณโรคด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐานต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 211 2224 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

********************************
ข้อมูลจาก : กองวัณโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 6 ธันวาคม 2567



   
   


View 164    06/12/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ