กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แจง "หมอพื้นบ้าน" ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย กำหนด 5 คุณสมบัติหลัก จัดทำทะเบียนแล้วกว่า 4.8 หมื่นคน ตรวจสอบคุณสมบัติและผ่านการรับรองเป็นหมอพื้นบ้านตามเกณฑ์ จำนวน 2,887 คนตรวจสอบผ่านตามเกณฑ์แล้ว 2.8 พันคน แบ่งเป็น 6 สาขาชำนาญ ย้ำการรักษาต้องคำนึงความปลอดภัย ระวังกลุ่มคนแอบอ้างเป็นหมอพื้นบ้าน อาจก่ออันตรายผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษา
             นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หมอพื้นบ้าน หมายถึง บุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยตามวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมานานไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็นที่นิยมยกย่องจากชุมชน ไม่มีการเรียกร้องค่ารักษา ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ.2562 บุคคลที่ถูกเสนอเป็นหมอพื้นบ้านต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1) มีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปีบริบูรณ์  2) มีภูมิลำเนา ในพื้นที่ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี 3)เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมานานไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็นที่นิยมยกย่องจากชุมชน 4) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่คณะกรรมการหมอพื้นบ้าน   ประกาศกำหนด  5) ไม่เคยต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงสิ้นสุดในคดีที่คณะกรรมการหมอพื้นบ้านเห็นว่า จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพการแพทย์แผนไทย บุคคลที่จะสามารถขอหนังสือรับรองการเป็นหมอพื้นบ้าน ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการหมู่บ้านหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ เพื่อพิจารณารับรองการเป็นหมอพื้นบ้าน ส่วนเขตกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตชุมชนนั้น ๆ เสนอชื่อเพื่อพิจารณารับรองการเป็นหมอพื้นบ้านได้ที่คณะกรรมการรับรองการเป็นหมอพื้นบ้านกรุงเทพมหานครหรือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้ในเวลาราชการหรือติดต่อโดยตรงที่ กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  0 2149 5693 
           ปัจจุบัน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดทำทะเบียนข้อมูล พบว่า มีหมอพื้นบ้านที่ได้รับการสำรวจ รวบรวม และ จัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 48,036 ราย และคัดกรองตรวจสอบความรู้คุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์ได้รับการรับรองเป็น หมอพื้นบ้านตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ.2562 จำนวน 2,887 คน จำแนกเป็นสาขาความชำนาญ  6 ประเภท เช่น หมอนวดพื้นบ้าน หมอยาสมุนไพร หมอรักษากระดูกหัก  หมอตำแย  หมอพิธีกรรม หมอรักพิษ สัตว์ กัด ต่อย เป็นต้น หมอเหล่านี้มีองค์ความรู้ แต่เนื่องจากอายุที่มากขึ้นและบางท่านไม่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ หรือไม่มีผู้สืบทอดความรู้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงดำเนินการถอดองค์ความรู้รวมถึงบันทึกองค์ความรู้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านทั่วประเทศเพื่อไม่ให้องค์ความรู้สูญหายและอนาคตจะได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 
            นายแพทย์สมฤกษ์  กล่าวอีกว่า  การรักษาของบุคคลที่อ้างความเป็นหมอพื้นบ้าน และนำกรรมวิธีมาประยุกต์ใช้เพื่อการรักษา นอกจากก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาด้วย การจะเข้ารับการรักษาโรค  จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งด้านสถานที่ และความน่าเชื่อถือในองค์ความรู้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงยกระดับความเชี่ยวชาญให้มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคโดยนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้ร่วมกับการรักษาต่อไป 

           ………………………………………………………..11 มกราคม 2568………………………………………………………………




   
   


View 180    11/01/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก