กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เขตสุขภาพที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมมอบเกียรติบัตร พื้นที่ต้นแบบเขตสุขภาพที่ 2 ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

           วันนี้ (3 ธันวาคม 2567) ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เขตสุขภาพที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และเป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร “พื้นที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมต้นแบบของเขตสุขภาพที่ 2 ณ โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ว่า นโยบายกรมอนามัยในปี 2568 ประกอบด้วย 4 ด้านสำคัญ ดังนี้ 1) สืบสานโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ โครงการราชทัณฑ์ ปันสุข สืบสานพระราชปณิธานฯ ต้านมะเร็งเต้านม งานพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) เครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวไทยฯ ควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน 2) ส่งเสริมสุขภาพประชาชนลด NCDs เสริมสร้างการดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ ลดอัตราส่วนการตายมารดาไทยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล เด็กไทยสายตาดี ลด NCDs ด้วย NCDs the series Value-base healthcare การดูแลผู้สูงอายุสถานชีวาภิบาล ผลิต CG และนักฟื้นฟูสุขภาพชุมชน เวชศาสตร์วิถีชีวิต ความรอบรู้สุขภาพ 3) อนามัยสิ่งแวดล้อมได้มาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลสีเขียว GCH Challenge ส่งเสริมน้ำประปาหมู่บ้านคุณภาพ เมืองสุขภาพดีทั่วไทย จัดการภัยฉุกเฉินอย่างมืออาชีพ และ 4) เสริมสร้างองค์กรเข้มแข็ง พัฒนาบุคลากร และนวัตกรรมเพื่ออนาคต พัฒนากำลังคน กรมอนามัยให้แข็งแรงทั้งกายและใจ บริหารจัดการงบประมาณอย่างคุ้มค่าและเร่งสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

           ดร.นายแพทย์ปองพล กล่าวต่อไปว่า นอกจากเป็นส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนคนไทยห่างไกล NCDs กรมอนามัยยังมีแนวทางการดูแลสุขภาพประชาชนด้วย ENDU Anamai กำลังดี กินดี ยิ้มสดใส เข้าใจเพศวิถี ร่วมกับ Life Style Medicine คือ E: Exercise เคลื่อนไหวเป็นยา พาสุขภาพดี N: Nutrition นมแม่ 1 :6 : 2 และเพิ่ม ลด ทดแทน ลดเสี่ยง NCDs D: Dental Health ฟันดีเริ่มที่ครอบครัว และ U: Understanding Sexuality Education เข้าใจเพศวิถี มีทักษะชีวิต การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามหลัก เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) เพื่อสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาว หรือ สุขภาวะที่ดี (Well-being) ภายใต้ 6 เสาหลัก คือ 1) การบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 2) การมีกิจกรรมทางกาย 3) การลดเลิกบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด 4) การนอนหลับที่มีคุณภาพ 5) การจัดการความเครียด และ 6) การสร้างสัมพันธ์เชิงบวกทางสังคม โดยผสมผสานและบูรณาการของทีมสหสาขาวิชาชีพประสานงานเชื่อมเสาหลัก โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง ร่วมกันวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน และการสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพแก่ประชาชนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 3 ธันวาคม 2567



   
   


View 17    03/12/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย