กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือองค์กรปกครองท้องถิ่นเร่งปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน และควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐานตามแนวทาง 3C หลังพบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และอี.โคไล เผยหลักเกณฑ์การรองรับคุณภาพน้ำประปาของกรมอนามัยมี 2 รูปแบบ 
        วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2567) นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การรับรองคุณภาพน้ำประปาเป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องจัดหาน้ำดื่มที่สะอาดและเพียงพอให้กับประชาชน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานน้ำประปาให้ประชาชน มีน้ำบริโภคที่สะอาดและปลอดภัย  รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์การรับรองคุณภาพน้ำประปาใน 2 รูปแบบ คือ 1) การรับรองคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ โดยมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาทางห้องปฏิบัติการ ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดต้นทาง (ระบบผลิต) และปลายทางบ้านผู้ใช้น้ำ จำนวน 2 ครั้ง โดยมีระยะห่างไม่เกิน 3 เดือน และต้องผ่านตามเกณฑ์ฯ ครบทุกพารามิเตอร์ทุกตัวอย่าง 2) การรับรองระบบน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด (3C) โดยมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาที่ผลิตได้ทางห้องปฏิบัติการ ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ เฉพาะน้ำประปาที่ผลิตได้ (ต้นทาง) เพื่อเป็นการพัฒนาระบบผลิตน้ำประปาให้สามารถผลิตน้ำประปาได้อย่างมีคุณภาพ 
           “สำหรับน้ำประปาหมู่บ้านอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันมีจำนวนกว่า  69,028 แห่ง และจากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านปี 2567 ด้วยการสุ่ม ตรวจสอบ จำนวน 880 แห่ง พบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียมากถึงร้อยละ 58.0 และพบเชื้ออีโคไล ร้อยละ 32.3 อีกทั้ง ยังพบสีของน้ำเข้ม และขุ่น ซึ่งระบบประปาของ อปท. ผ่านการรับรองประปาดื่มได้ 21 แห่ง และ ผ่านการรับรองประปาหมู่บ้านสะอาด 3C 430 แห่ง กรมอนามัยจึงแนะนำให้ประชาชนปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาก่อนนำมาใช้งานด้วยการกรอง การต้ม หรือการเติมคลอรีน ก่อนที่จะนำมาบริโภคในครัวเรือน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว 
         นายแพทย์ธิติ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัย เสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบำรุงรักษาระบบผลิตน้ำประปาเป็นประจำและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการล้างทำความสะอาดระบบประปา การระบายตะกอนในถังตกตะกอน การล้างย้อนทรายกรองตลอดจนการระบายตะกอนในเส้นท่อจ่ายน้ำ เพื่อลดปัญหาในเรื่องความขุ่นและสี ที่สำคัญต้องมีการตรวจสอบ ซ่อมแซม ระบบเติมคลอรีนในน้ำประปา รวมถึงมีการฝึกอบรมพนักงานหรือผู้ดูแลระบบประปาให้สามารถเติมคลอรีนได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ สามารถเข้าร่วมดำเนินงานพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด ตามแนวทาง 3C คือ 1) Clear : มีการจัดการระบบประปาให้สะอาด เป็นระเบียบ และผลิตน้ำประปาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 2) Clean ผลิตน้ำประปาได้ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ และ 3) Chlorine มีการเฝ้าระวังปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปาด้วยชุดทดสอบภาคสนามอย่างง่าย (อ.31) ที่กรมอนามัยได้ผลิตขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้น้ำว่า น้ำประปาสะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน ปราศจากแบคทีเรียและสารปนเปื้อน ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสอบถามข้อมูลการรับรองคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด และการพัฒนาสู่น้ำประปาดื่มได้ที่สายด่วน กรมอนามัย 1478” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


***    

       
กรมอนามัย / 21 พฤศจิกายน 2567



   
   


View 254    21/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย