รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน สบยช. เผยให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดครอบคลุมตั้งแต่ประเมินคัดกรอง บำบัดแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ฟื้นฟูสมรรถภาพ และติดตามหลังการรักษา ยกระดับการดูแลด้วยชุมชนบำบัด ช่วยผู้ป่วยพัฒนาตนเอง ปรับความคิดพฤติกรรม พัฒนาทักษะอาชีพและสังคม พร้อมการดูแลที่บ้านหรือ Home Ward ผู้ป่วยยาเสพติด พบได้ผลดี เร่งขยายสถานพยาบาลยาเสพติด 184 แห่งทั่วประเทศ

วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2567) ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จ.ปทุมธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม สบยช. เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด

นายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินงานในหลายๆ ด้าน ทั้งการป้องกัน ปราบปราม ยึดทรัพย์ บำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานหลักด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด โดยมี สบยช. เป็นสถาบันเฉพาะทางระดับชาติในด้านการบำบัดรักษาผู้ป่วยจากยาเสพติด ซึ่งนอกจากให้บริการบำบัดรักษาและรับส่งต่อผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว ยังมีการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมถ่ายทอดให้แก่หน่วยบริการต่างๆ การจัดประชุมวิชาการและการฝึกอบรม รวมถึงกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยาเสพติดทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีสถานพยาบาลยาเสพติดระบบสมัครใจ 1,081 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดระบบสมัครใจ 212 แห่ง และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสังกัดกระทรวงยุติธรรม 146 แห่ง ส่วนผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดทั้งประเทศในปีงบประมาณ 2567 มี 213,024 คน จำนวนนี้อยู่ในการดูแลของ สบยช.และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ 6 แห่งในภูมิภาค 13,033 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ กระท่อม และโคเคน ถึง 62% ตามด้วยกลุ่ม Opiates (เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น) 20.8% และกัญชา 9.7%

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในการยกระดับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด สบยช.มีการพัฒนาระบบบริการที่ครอบคลุม ตั้งแต่การประเมินคัดกรอง การบำบัดด้วยยาแบบผู้ป่วยนอก 1-4 สัปดาห์ ฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยนอก Matrix Program 2-4 เดือน การบำบัดด้วยยาแบบผู้ป่วยใน 1-4 สัปดาห์ พร้อมดูแลรักษาโรคแทรกซ้อนทางกายและจิต ซึ่งโรคร่วมทางกายที่พบมากสุด คือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ส่วนโรคร่วมทางจิตเวชที่พบมากสุดคือ โรคจิตเภท สำหรับขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยใน จะมี Fast Model: TC (Therapeutics Community) หรือชุมชนบำบัด และขั้นตอนติดตามหลังการรักษาและดูแลต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ นอกจากนี้ ยังพัฒนาคู่มือการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้าน (Home Ward) ซึ่งเสมือนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล แต่ใช้การดูแลในรูปแบบ Case Management ในการประเมิน วางแผน จัดการให้คำปรึกษา ทำกิจกรรมบำบัดและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องตามระยะการรักษา ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน DMS Home Ward และแอปพลิเคชัน Line Official Account เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างทีมสหวิชาชีพและผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ Home Ward ผู้ป่วยยาเสพติดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว                                                            

“ตั้งแต่เปิดบริการ Home Ward ผู้ป่วยยาเสพติด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการสะสม 432 คน คงการพยาบาล 96 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยยาบ้า/ยาไอซ์ และกัญชา จากการประเมินผลในปี 2567 พบผู้ป่วยพึงพอใจ 94.05% ครอบครัวพึงพอใจ 91% และคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับดี 70.14% ทั้งนี้ สบยช.ได้ขยายรูปแบบบริการไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดทั่วประเทศ โดยพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้าน 3 รุ่น ร่วม 490 คน พร้อมขึ้นทะเบียน Home Ward ผู้ป่วยยาเสพติด ยาเสพติด 184 แห่ง ประกอบด้วย สบยช. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ 6 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 177 แห่ง” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวว่า สบยช. ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติดทุกประเภท ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวม 670 เตียง มีอัตราครองเตียง 80.37% สำหรับการให้บริการชุมชนบำบัด (TC) เป็นรูปแบบการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการใช้ชุมชนจำลองเสมือนบ้านในการฝึกการพัฒนาตนเอง โดยการอยู่ร่วมกันในครอบครัวใหญ่ เรียนรู้ผ่านความรับผิดชอบบทบาทหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ด้วยกระบวนการกลุ่ม เครื่องมือบ้าน (Tools of House) และการปฏิบัติตามกฎของบ้านด้วยปรัชญาและอุดมการณ์เดียวกัน จนสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ โดยเริ่มตั้งแต่ปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม ฝึกฝนจนเป็นนิสัย พัฒนาตนเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ โดยการช่วยเพื่อช่วยตนเอง ค้นพบตนเอง มีทัศนคติที่ดี เกิดการนับถือตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา ภาพรวมทำให้เกิดการพัฒนาใน 4 ด้าน คือ พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาความคิดและจิตวิญญาณ พัฒนาอารมณ์ความรู้สึก และพัฒนาทักษะอาชีพและสังคม

********************************************** 20 พฤศจิกายน 2567



   
   


View 444    20/11/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ