รพ.เมตตาฯ แนะPM 2.5 ส่งผลกระทบต่อดวงตาอย่างไร
- กรมการแพทย์
- 32 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม เตือนผู้ที่ใส่ฟันปลอม หากพบฟันปลอมชำรุด ขยับ หลวมหรือหลุดง่าย ไม่ควรใส่หรือใช้งานต่อ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข อย่าปล่อยทิ้งไว้ อาจอันตรายถึงชีวิต หากฟันปลอมหลุดลงในหลอดลมหรือกลืนลงช่องท้อง
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรายงานข่าวพบผู้ที่ใส่ฟันปลอม ที่หลวมทำให้หลุดและเผลอกลืนลงไป ซึ่งอันตรายเป็นอย่างมาก หากชิ้นส่วนฟันปลอมหลุดลงไปในช่องท้อง หรือทางเดินหายใจ ดังนั้นหากฟันปลอมชำรุด ขยับ แตก หัก หลวมหรือหลุดง่าย ไม่ควรใช้งานต่อ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือซ่อมแซมแก้ไขฟันปลอมด้วยตนเอง และควรได้รับการดูแลรักษาจากทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การใส่ฟันปลอมเพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติที่หายไปนั้นมีหลายวิธี ฟันปลอมชนิดถอดได้เป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งการใส่ฟันปลอมจะช่วยให้เราสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น และช่วยสร้างความมั่นใจในด้านการพูดและความสวยงาม ในการใช้ฟันปลอมชนิดถอดได้ควรใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ควรเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวจนเกินไป เพราะอาจทำให้ฟันปลอมหลุดหรือแตกหักได้ และควรทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งหลังรับประทานอาหารและก่อนนอน โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มร่วมกับยาสีฟันหรือสบู่ ก่อนนอนควรถอดฟันปลอมออกแล้วแช่น้ำสะอาด ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน นอกจากนี้การใส่ฟันปลอมมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบ หากไม่ได้ดูแลเรื่องการแปรงฟันและการทำความสะอาดฟันปลอมอย่างเหมาะสม อีกทั้งเมื่อใช้ฟันปลอมไประยะหนึ่ง ฟันปลอมอาจหลวมเนื่องมาจากคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ทำฟันปลอมเอง หรือมีการแตกหักของฐานฟันปลอม หรือจากการตะขอฟันปลอมหักหรืออ้า ไม่รัดแน่นเหมือนเดิม หรือกระดูกใต้ฐานฟันปลอมมีการละลายตัว ทำให้ฟันปลอมหลวมและกระดกได้ เมื่อใช้งานแล้วอาจมีอาการเจ็บบริเวณเหงือกหรือฟันได้ จึงควรพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บ หรือฟันปลอมหลวมหลุด กระดก เพื่อแก้ไขฟันปลอม ซึ่งบางรายต้องเสริมฐานฟันปลอมหรือปรับตะขอให้แน่นขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องทำใหม่ ดังนั้นจึงควรพบทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจฟันว่ามีฟันผุ มีหินปูนและเหงือกอักเสบหรือไม่ และตรวจเช็คฟันปลอมว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมพร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากและแก้ไขฟันปลอมอย่างถูกวิธี
******************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันทันตกรรม #ฟันปลอมชำรุดแตกหัก #ฟันปลอมหลุดลงคอ #กลืนฟันปลอมลงท้อง
-ขอขอบคุณ-8 พฤศจิกายน 2567