กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม และวาตภัย ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือที่ยังมีความเสี่ยงและประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ

          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ ยังเป็นพื้นที่ประสบภัยขั้นวิกฤติ มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากดินโคลนถล่ม บางรายติดค้างอยู่ภายในบ้าน จากข้อมูลผู้ประสบภัยของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 314 ราย มากที่สุดที่แม่ฮ่องสอน 171 ราย รองลงมาคือ เชียงใหม่ 121 รายและ ลำปาง 15 ราย ผู้สูงอายุ จำนวน 42,906 ราย มากที่สุดที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 32,709 ราย รองลงมาคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4,443 ราย ลำปาง 3,816 ราย ลำพูน 1,857 ราย ส่วนผู้พิการติดบ้านติดเตียง จำนวน 2,605 ราย มากที่สุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,834 ราย รองลงมาคือ ลำพูน 365 ราย และลำปาง  205 ราย ตามลำดับ

       แพทย์หญิงอัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัย ห่วงใยสุขภาพของประชาชน จึงเร่งส่งทีม SEhRT ระดับจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1 และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ในชุมชนและศูนย์พักพิงชั่วคราวโดยแนวทาง คือ 1) เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเตรียมพร้อมยาประจำตัว ยารักษาโรคต่าง ๆ ติดตัวไว้เสมอ 2) สื่อสารความรู้ด้านสุขภาพ ด้วยการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลด้วยการล้างมือให้สะอาด กินอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ ลดการเกิดภาวะท้องเสีย 3) จัดเตรียมน้ำสะอาด น้ำดื่มที่ได้มาตรฐานสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคที่มากับน้ำ 4) ควรทำความสะอาดชุด เสื้อผ้า ผ้าห่มที่ได้รับบริจาคและนำมาใช้กับผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ 5) หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หรือสัมผัสน้ำเน่าเสีย หรือน้ำท่วมขังป้องกันโรคติดเชื้อจากน้ำเสีย และโรคที่มากับน้ำท่วมเช่น โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า และโรคผื่นคันที่ผิวหนัง รวมทั้งไฟฟ้าดูดหรืออุบัติเหตุ 6) สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลจำนวนมากในศูนย์พักพิงชั่วคราวป้องกันการเกิดโรคระบาด หรือโรคติดต่อ 7) เมื่อเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ไม่ควรให้ผู้สูงอายุเข้าไปในบ้านในช่วงรื้อ ล้างหลังน้ำลด ให้รอจนกว่าทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดและเข้าบ้านได้แล้วป้องกันโรคติดเชื้อหรือเชื้อราต่าง ๆ ส่งผลกับสุขภาพ

           “ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางเนื่องจากกลุ่มเหล่านี้เสี่ยงต่อการจมน้ำ การพลัดตกลื่นล้ม การถูกไฟฟ้าดูด กรมอนามัย จึงขอให้ผู้ดูแลต้องเฝ้าระวัง ไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพัง เนื่องจากผู้สูงอายุสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยตามอายุ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ  ลดลง เช่น การทรงตัวไม่ดี แขนขาอ่อนแรง มีปัญหาทางสายตาและปัญหาการได้ยิน อาจเสี่ยงจมน้ำจนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ควรถอดปลั๊กไฟต่าง ๆ ภายในบ้านบริเวณที่จมน้ำและสับคัทเอาท์ไฟฟ้า เฉพาะชั้นที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วซึมหรือลัดวงจร หากท่านใดพบผู้ประสบอุบัติเหตุให้ตั้งสติ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669 และนำส่งโรงพยาบาลทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 3 ตุลาคม 2567



   
   


View 274    03/10/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย