กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาสานพลังเครือข่ายป้องกันการจมน้ำประเทศไทย รณรงค์วันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day: WDPD 2024) ภายใต้แนวคิด “Anyone can drown, no one should : จมน้ำง่ายกว่าที่คิด...หนึ่งชีวิตไม่ควรสูญเสีย” แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน ส่งเสริมความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำและทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ เผย 17 ปี ช่วยลดเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้ถึงร้อยละ 60 จากปีละ 1,500 คน เหลือ 615 คน พร้อมมอบโล่รางวัล “ทีมผู้ก่อการดี” ระดับประเทศ ประจำปี 2566 จำนวน 36 รางวัล

วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) ที่เดอะพอร์ทอล บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาสานพลังเครือข่ายป้องกันการจมน้ำประเทศไทย ในวันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day: WDPD 2024) พร้อมมอบโล่รางวัล ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ (MERIT MAKER Plus) ระดับประเทศ ประจำปี 2566 รวม 36 รางวัล โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค Mr. Mark Landry ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำตามข้อเสนอของสหประชาชาติ ร่วมงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การจมน้ำเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในระดับโลกและประเทศไทย องค์การอนามัยโลกพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี โดยทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละ 236,000 คน เป็นเด็กอายุ 1-14 ปี ประมาณ 82,000 คน องค์การสหประชาชาติ และสมัชชาอนามัยโลก จึงมีมติให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกเร่งดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ และในปี 2564 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติเรื่อง Global Drowning Prevention กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันป้องกันการจมน้ำโลก โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวคิดว่า “Anyone can drown, no one should จมน้ำง่ายกว่าที่คิด...หนึ่งชีวิตไม่ควรสูญเสีย”

         ในส่วนของประเทศไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน และชมุชน ได้ร่วมกันดำเนินงานป้องกันการจมน้ำอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลยุทธ์ผู้ก่อการดี หรือ MERIT MAKER ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทำให้ 17 ปีที่ผ่านมาสามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กได้ถึง ร้อยละ 60 จากเสียชีวิตปีละ 1,500 คน ปัจจุบันพบเพียง 615 คน ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำและทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ เพื่อให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงเหลือไม่เกิน 290 คน ภายในปี 2580 ตามเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 - 2566) ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,503 คน หรือวันละกว่า 10 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 6,693 คน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งเน้นดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 และมีสาเหตุหลักจากการขาดทักษะการเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำที่ถูกต้อง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ให้กับเครือข่ายทีมผู้ก่อการดีและอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ เพิ่มอีก 30 จังหวัด เพื่อให้เด็กและประชาชนในชุมชนทั่วประเทศมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำอีกกว่า 1 แสนคน ภายในปี 2567 นี้

ด้านนายแพทย์ธงชัย กล่าวเสริมว่า การจัดกิจกรรมในปีนี้ ประกอบด้วย การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานฯ และมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ก่อการดีฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เครือข่ายที่ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งภาคสาธารณสุข ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน นักวิชาการ จิตอาสา และทีมผู้ก่อการดีที่เข้ารับรางวัล รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 คน

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สสส. ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่าย ดำเนินงานจัดการปัญหาในพื้นที่เสี่ยง ภายใต้โครงการสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ส่งเสริมบทบาททีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) เสริมศักยภาพการทำงานในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำ มุ่งเน้นให้บุคลากรเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาคสาธารณสุข ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาคเอกชน มูลนิธิ จิตอาสา และประชาชนที่สนใจนำองค์ความรู้ และทักษะที่ได้ไปสอนเด็ก 

“ซึ่งปัญหาการจมน้ำในเด็ก มักเกิดในช่วงปิดเทอม จึงเร่งส่งเสริมการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยดำเนินงานต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยทำให้แหล่งน้ำในชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ที่จะประเมินความเสี่ยง ระวังเท่าทัน และสามารถปกป้องตัวเองจากการจมน้ำได้รวมถึงให้เกิดการขยายทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ป้องกันการจมน้ำ ที่สามารถกระจายทำงานได้ดีในชุมชนต่าง ๆ เกิดความปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 **************************************** 25 กรกฎาคม 2567



   
   


View 0    25/07/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ