รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสุ่มสำรวจการจำหน่ายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 12 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ พบมีการกระทำผิดเกือบร้อยละ 20 โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการฝ่าฝืนกระทำผิดขายเหล้าในปั๊มน้ำมัน บริเวณสถานศึกษา ศาสนสถาน และฝ่าฝืนขายเหล้าในเวลาต้องห้ามมากถึงร้อยละเกือบร้อยละ 90 ส่วนยอดการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในช่วงหยุดฉลองปีใหม่ 7 วัน มีกว่า 10,000 ครั้ง มีสายโทรก่อกวนเจ้าหน้าที่นเรนทร 1669 เกือบ 4,000 ครั้ง วันนี้ (4 มกราคม 2550) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผลสรุปการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจาจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 -3 มกราคม 2550 ว่า ในเทศกาลปีใหม่นี้กระทรวงสาธารณสุขได้เน้น 2 มาตรการได้แก่การสำรวจการฝ่าฝืนจำหน่ายสุราตามกฎหมาย เพื่อลดและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสุราเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของปัญหาอุบัติเหตุจราจรในประเทศไทย ทำให้เกิดการบาดเจ็บกว่าร้อยละ 60 ในช่วงเทศกาล และการจัดหน่วยช่วยชีวิตรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ นายแพทย์มงคลกล่าวว่า จากการสำรวจ โดยสำนักควบคุมโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เขต 1 – 12 ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2549 – 3 มกราคม 2550 ได้สุ่มสำรวจการขายเหล้าในสถานที่ และเวลาที่ห้ามขายในจังหวัดขนาดใหญ่ 12 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ปทุมธานี สระบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยพบมีการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน สถานศึกษา ศาสนสถาน รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องกับสถานที่ดังกล่าว จากการสำรวจทั้งหมด 1,062 แห่ง พบมีการกระทำผิด 164 แห่ง หรือร้อยละ 15 แยกรายการดังนี้ ปั๊มน้ำมันสำรวจ 646 แห่ง พบกระทำผิด 115 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 18 ศาสนสถาน 184 แห่ง พบกระทำผิด 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11 และสถานศึกษา 232 แห่ง พบกระทำผิด 29 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 13 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2549 พบการฝ่าฝืนลดลง โดยในด้านสถานที่ลดลงกว่าเดิมร้อยละ 12 ส่วนเวลาห้ามขายลดลงร้อยละ 8 ทั้งนี้ จังหวัดที่มีการกระทำผิดมากที่สุดคือ นครศรีธรรมราช พบร้อยละ 72 ในขณะที่จังหวัดที่เป็นเส้นทางหลักสัญจร และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ปทุมธานี ชลบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ เชียงใหม่ มีการกระทำผิดน้อย พบไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการฝ่าฝืนการขายเหล้านอกเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 น. - 24.00 น. สำรวจทั้งหมด 708 แห่ง พบมีการกระทำผิด 137 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19 จังหวัดที่ฝ่าฝืนสูงสุดคือนครศรีธรรมราช พบร้อยละ 86 ส่วนจังหวัดชลบุรีสำรวจทั้งสถานที่และเวลาห้ามขายมากกว่า 300 แห่ง พบว่าไม่มีผู้กระทำผิดเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และขอชมเชยผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการที่เห็นแก่ปัญหาสังคม “ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและอาสาสมัครสาธารณสุข ขอความร่วมมือเจ้าของร้านชำในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้จำหน่ายเกือบร้อยละ 100 ทำให้หาซื้อเหล้าเบียร์ได้ง่ายมาก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างเคร่งครัด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายแพทย์มงคลกล่าว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการรักษาพยาบาลในด้านผลการให้บริการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในช่วงหยุดฉลองเทศกาลปีใหม่ว่า ในรอบ 7 วันตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 - 3 มกราคม 2550 หน่วยแพทย์ฉุกเฉินได้ออกปฏิบัติการไปรับและให้การปฐมพยาบาลผู้เจ็บป่วย ณ ที่เกิดเหตุรวมทั้งหมด 10,177 ครั้ง เฉลี่ยออกทุก 1 นาที สูงกว่าปี 2549 ถึง 2 เท่าตัว สูงสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และ 1 มกราคม 2550 เฉลี่ยวันละ 1,600 ครั้ง โดยร้อยละ 34 รับแจ้งเหตุตรงทางหมายเลข 1669 ที่เหลือแจ้งผ่านตำรวจ หมายเลขอื่นๆ และหน่วยกู้ภัย รวมผู้ป่วยทั้งหมด 10,455 ราย มีสายโทรก่อกวนเจ้าหน้าที่นเรนทร 1669 จำนวน 3,906 ครั้ง ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ออกไปให้ความช่วยเหลือมากที่สุด ได้แก่ อุบัติเหตุจราจร จำนวน 5,256 รายคิดเป็นร้อยละ 50 รองลงมาได้แก่ การป่วยฉุกเฉิน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงกำเริบจำนวน 3,821 รายคิดเป็นร้อยละ 37 ถูกทำร้ายร่างกายจากเหตุทะเลาะวิวาท 534 รายคิดเป็นร้อยละ 5 พลัดตกหกล้ม 273 ราย นอกจากยังพบผู้ที่ทำร้ายตัวเอง 48 ราย จมน้ำ 10 ราย ตกจากที่สูง 111 ราย เพลิงไหม้ 9 ราย อื่นๆ 393 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษาและนำส่งโรงพยาบาล เมื่อแยกการเสียชีวิตในช่วงปีใหม่ พบว่าผู้บาดเจ็บเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุมากที่สุด คือร้อยละ 62 เสียชีวิตระหว่างนำส่งไปโรงพยาบาลร้อยละ 6 เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินร้อยละ 13 เสียชีวิตระหว่างส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นร้อยละ 2 เสียชีวิตหลังนอนโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง ร้อยละ 13 และเสียชีวิตหลัง 24 ชั่วโมงไปแล้วร้อยละ 4 ซึ่งการเสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุที่มีจำนวนมากนี้ แสดงถึงความรุนแรงของการบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดมาจากการขี่รถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน พบว่า หน่วยแพทย์ระดับสูงซึ่งเปรียบเสมือนห้องไอซียูเคลื่อนที่ มักจะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีแพทย์ มีเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยในกรณีที่การป่วยหรือการบาดเจ็บรุนแรงจำนวน 3,747 ครั้ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว ผู้เจ็บป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ช่วยเหลือโดยหน่วยแพทย์ระดับพื้นฐานเช่นในรายกระดูกขาแขนขาหัก เข้าเฝือก จำนวน 3,782 ครั้ง และช่วยเหลือโดยหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้นซึ่งจะประจำอยู่ที่อบต.ทั่วประเทศจำนวน 2,594 ครั้ง มกราคม/10-11 ******************************* 4 มกราคม 2550


   
   


View 11    04/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ