ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในสัตว์ปีกและในคน ตลอดฤดูหนาวนี้ รายงานทุกวัน แม้ไม่พบสิ่งผิดปกติก็ตาม ให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนป้องกันตัว หากมีสัตว์ปีกมีอาการหงอยเหงา ซึม ป่วยหรือตาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำลายอย่างถูกวิธี ห้ามนำมาชำแหละทำอาหารอย่างเด็ดขาด เพราะโอกาสติดเชื้อมีมากที่สุด รวมทั้งกินไข่ เนื้อสัตว์ปีกที่ปรุงสุก ล้างมือ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศฺวิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกหลังจากที่มีรายงานพบเชื้อไข้หวัดนกเริ่มระบาดอีกในเอเชีย เช่นไต้หวัน และอียิปต์ในเดือนธันวาคมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้มิสเตอร์ไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.กว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ เฝ้าระวังทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั้งในคนและในสัตว์ปีกตั้งแต่เริ่มหนาวระลอกแรกมาแล้ว และให้รายงานทุกวันแม้ว่าไม่มีผู้ป่วยก็ตาม เพื่อให้รับรู้ว่าเรามีการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ฤดูหนาวที่กำลังจะเข้ารอบใหม่ จะต้องเฝ้าระวังมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ใกล้ช่วงตรุษจีน ซึ่งตรงกับปลายมกราคม 2550 ชาวบ้านจะเริ่มเลี้ยงเป็ดไก่มากขึ้น เพื่อนำไปขายในช่วงเทศกาลดังกล่าว จึงมีโอกาสสัมผัสเชื้อมากขึ้น ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัว ประการแรก หากมีสัตว์ปีกเช่นไก่เป็ด ป่วยตาย ห้ามนำมาถอนขนชำแหละกินอย่างเด็ดขาด เพราะเชื้อจะติดในขั้นตอนนี้ ขอให้แจ้งปศุสัตว์หรือส่วนราชการ เพื่อการทำลายให้ถูกวิธี ประการที่ 2 คือการป้องกันการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยหรือตาย ต้องใช้เครื่องป้องกันเช่นถุงมือ หน้ากากอนามัย ประการที่ 3 ให้กินเนื้อสัตว์ปีก รวมทั้งไข่ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีอาชีพชำแหละสัตว์ปีก ต้องใส่เครื่องป้องกันตัวตลอดเวลา อย่าสัมผัสสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลักการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ให้เป็นอนามัยพื้นฐาน โดยใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน แก้วน้ำต้องมีหลอดดูด อาหารต้องปรุงสุกสะอาด ล้างมือให้สะอาด ซึ่งจะป้องกันเชื้อโรคต่างๆที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำ ไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค ไข้หวัด โรคอุจจาระร่วง อหิวาต์ ไทฟอยด์ ไข้รากสาด หากทุกคนรู้ ก็จะเป็นต้นทุนชีวิตในการป้องกันโรค หากไม่รู้ โอกาสเสี่ยงก็จะมาก โดยความรู้พื้นฐานเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขได้ถ่ายทอดให้อสม.ไปขยายผลในการปฏิบัติเป็นแบบอย่างและสอนชาวบ้านต่อไป ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลก ตั้งแต่พ.ศ. 2546 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2549 มีประเทศที่ยืนยันการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดเอช 5 ในสัตว์ปีก ใน 56 ประเทศ แต่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกใน 10 ประเทศ จำนวน 258 ราย และเสียชีวิต 154 ราย รวมทั้งไทยด้วย และยังไม่มีรายงานเชื้อกลายพันธุ์ โดยในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2546 จนถึงขณะนี้พบเพียง 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย เฉพาะในปี 2549 นี้พบเพียง 3 ราย ที่พิจิตร อุทัยธานี และหนองบัวลำภู รายสุดท้ายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 จากนั้นมา ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ********************************* 27 ธันวาคม 2549


   
   


View 10    27/12/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ