กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานภาคการสาธารณสุขในพื้นที่ ดำเนินการจัดการภาวะเสี่ยงสุขภาพจากไฟไหม้โรงงานผลิตกรดมะนาว จังหวัดระยอง พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแล ป้องกัน และเฝ้าระวังลดความเสี่ยงสุขภาพแก่ประชาชน
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตกรดมะนาวแห่งหนึ่ง ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง พบว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นโกดังร้าง 1 คูหา มีใบอนุญาตประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขแล้ว เบื้องต้นเป็นโรงงานผลิตกรดมะนาว หรือกรดซิตรก หลังทราบเหตุเพลิงไหม้ กรมอนามัยได้ส่งทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี เข้าพื้นที่ทันที โดยให้ปฏิบัติการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจพื้นที่โดยรอบจุดเกิดเหตุ พบว่า รอบโรงงานเป็นโรงงานอุตสาหกรรมและมีต้นไม้หนาทึบปกคลุมโดยรอบ ในระยะ 400 เมตร มีบ้านเรือนของประชาชนได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันไฟในพื้นที่หมู่ที่ 2, 3 และ 8 ไม่พบแหล่งน้ำสาธารณะใกล้จุดเกิดเหตุ
“ดังนั้น ประชาชนจึงมั่นใจได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนของกรดมะนาวจากโรงงานลงแหล่งน้ำ และเพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลดังกล่าว ทีมได้ตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง 2 จุด คือ ปลายท่อระบบบำบัดของโรงงาน พบค่า ประมาณ 6 -7 และตรวจวัดในน้ำใช้ของประชาชน พบอยู่ที่ 7.8 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปกติ สำหรับปริมาณควันไฟจาเหตุเพลิงไหม้ พบว่า มีประชาชนบางรายหายใจลำบาก แสบจมูก ตา คันและแสบผิว แต่อาการยังไม่รุนแรง จึงได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและใส่หน้ากากตลอดเวลา โดยทีม SEhRT ได้สนับสนุนหน้ากากให้กับประชาชน เพื่อใช้ปกป้องตัวเอง สำหรับกรดมะนาว หรือกรดซิตรก เป็นสารที่หากได้รับในปริมาณและเข้มข้นสูงอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ เช่น หากกินเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และหากได้รับต่อเนื่องหรือระยะเวลานาน จะทำให้สารดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและเสียชีวิตได้ หากสัมผัสทางการสูดดมหายใจจะส่งผลให้หายใจลำบาก ไอ แสบจมูก แสบตา หรือการสัมผัสผิวหนังทำให้มีผื่น ผิวหนังอักเสบได้ ซึ่งจากการเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตกรดมะนาวดังกล่าว กรมอนามัยมีข้อแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตนลดเสี่ยงสุขภาพจากเหตุไฟไหม้ ดังนี้ 1) ปฏิบัติตนตามคำแนะนำด้านสุขภาพจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เบื้องต้นไม่พบการปนเปื้อนของกรดมะนาวที่รั่วไหลออกจากโรงงาน ขอให้ประชาชนมั่นใจในการใช้น้ำได้อย่างปลอดภัย ช่วงเกิดไฟไหม้อาจมีควัน เขม่า เถ้า หรือฝุ่นละอองปนในอาหาร จึงขอให้ระมัดระวังในการเลือกกินอาหารที่ไม่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน และให้ปรุงสุกก่อนนำมากินซ้ำทุกครั้ง 2) กลุ่มเสี่ยงทั้งคนแก่ เด็ก คนท้อง หรือคนป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด ให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดและให้ใส่หน้ากากไว้จนกว่าควันไฟจะจางลง 3) สังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด หายใจลำบาก ไอ แสบจมูก แสบตา มีผื่นที่ผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบ รวมทั้งหากมีอาการภูมิแพ้ หอบหืดกำเริบ ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และ4) เมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ไม่มีควันไฟ หรือไม่ได้กลิ่นควันไฟในพื้นที่แล้ว ให้เปิดประตู หน้าต่างระบายอากาศและทำความสะอาดบ้าน รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านที่อาจปนเปื้อนเขม่าควันหรือฝุ่นละออง เช่น ตู้ เตียง เฟอร์นิเจอร์ จานชาม ภาชนะเครื่องครัวต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นต้น ทั้งนี้ ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อควบคุม กำกับสถานประกอบกิจการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ให้ก่อมลพิษซ้ำ และติดตามผลกระทบทางสุขภาพจากอาการหรือผลข้างเคืองต่าง ๆ ของประชาชนโดยรอบอีกครั้ง
***
กรมอนามัย / 18 มกราคม 2567
View 188
18/01/2567
ข่าวในรั้ว สธ.
สำนักสารนิเทศ