กระทรวงสาธารณสุข ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับมือ น้ำท่วม ครอบคลุมทั้งการสื่อสาร คลังยา เวชภัณฑ์ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เน้นย้ำให้ดูแลสุขภาพประชาชนครบทุกหลังคาเรือน เผยผลน้ำท่วมนานกว่า 2 เดือน มีผู้เจ็บป่วย 6 แสน 5 หมื่นกว่าราย มากที่สุดคือโรคน้ำกัดเท้า วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2549) ที่โรงแรมไดมอนด์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูง ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ใน 14 จังหวัดภาคใต้และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 200 คน เพื่อเตรียมพัฒนาความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้ภาคใต้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ดินถล่ม ซึ่งมีผลกระทบต่อความต้องการปัจจัยสี่ ทั้งเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค อย่างเร่งด่วน จากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่าการเผชิญปัญหาและการรับมือกับภัยพิบัติแต่ละครั้งทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ยังขาดการเตรียมพร้อมและความรวดเร็วของการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ จึงต้องมีการปรับระบบ เตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ สามารถวางแผนให้การช่วยเหลือประชาชนในภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงาน ทำแผนเตรียมรองรับภัยพิบัติ ทั้งเรื่องการจัดการอาคารบริการผู้ป่วย เช่น เครื่องปั่นไฟฟ้า การจัดการสื่อสาร การสำรองคลังยา - เวชภัณฑ์เพื่อออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้เพียงพอ ไม่ต้องรอรับการสนับสนุนจากส่วนกลาง และให้มีการซักซ้อมแผนเป็นประจำทุกปี โดยให้มีการจับคู่เครือข่ายการให้ความช่วยเหลือระหว่างพื้นที่ประสบภัยกับพื้นที่ปกติที่อยู่ใกล้เคียง ประการสำคัญที่สุดได้เน้นย้ำให้หน่วยแพทย์และสาธารณสุขดูแลผู้ประสบภัยให้ทั่วถึงทุกหลังคาเรือน โดยให้ผู้ตรวจราชการเขตเป็น ผู้บัญชาการระดับเขต ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการระดับจังหวัด โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน เป็นรองผู้บัญชาการระดับจังหวัดและอำเภอ ในเขตภาคใต้นี้ได้มอบหมายให้นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ทางด้านนายแพทย์มานิตย์ ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมในรอบกว่า 2 เดือนมานี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การรักษาผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยตามหมู่บ้าน 4,868 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วย 654,183 ราย มากที่สุดที่นนทบุรี 176,258 ราย อ่างทอง 67,115 ราย พระนครศรีอยุธยา 61,431 ราย สุพรรณบุรี 48,667 ราย โดยโรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ น้ำกัดเท้า ร้อยละ 44 ผื่นคันร้อยละ 14 และไข้หวัดร้อยละ 11 ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ยังเหลือพื้นที่น้ำท่วม 15 จังหวัด โดยมี 5 จังหวัดที่สถานการณ์ยังรุนแรง ได้แก่ สุพรรณบุรี นนทบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ส่วนพื้นที่ที่ น้ำลดแล้ว ได้ให้กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตทำการฟื้นฟูด้านความสะอาดสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูสุขภาพจิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ให้การดูแลด้านจิตใจแล้ว 80,340 ราย ในจำนวนนี้ให้ยาคลายเครียด 623 ราย พฤศจิกายน1/8 ********************************* 7 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 15    07/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ