กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 11/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 12 (วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน 2566)

         “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) ระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบเหตุการณ์การรับประทานแมงดาทะเลที่มีพิษ รวม 6 เหตุการณ์ มีข้อมูลผู้รับประทาน 38 ราย ในจำนวนนี้ป่วย 18 ราย และเสียชีวิตรวม 5 ราย มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 27.8 (เสียชีวิตประมาณ 1 ใน 3 ราย) ส่วนใหญ่เกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มาของแมงดาทะเลมีทั้งที่จับเองและซื้อจากร้านอาหารหรือตลาด และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 มีรายงานรับประทานแมงดาทะเลมีพิษเป็นเหตุการณ์แรกของปี 2566 มีผู้ร่วมรับประทาน 7 ราย เสียชีวิต 2 ราย และป่วย 5 ราย อาการที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาไม่มีแรง หายใจผิดปกติรู้สึกชาลิ้นและปาก ปลายมือ ปลายเท้า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย หลังจากรับประทาน จะเริ่มมีอาการภายใน 3 ชั่วโมง และเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง”

        “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสพบผู้รับประทานแมงดาทะเลที่มีพิษได้มากขึ้น เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูวางไข่ของแมงดาทะเล ซึ่งจะพบแมงดาทะเลชุกและมีไข่

       โดยแมงดาทะเล โดยเฉพาะแมงดาถ้วยเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษ tetrodotoxin หรือ saxitoxin เช่นเดียวกับปลาปักเป้า เป็นสารพิษที่ละลายน้ำได้ดี ทนความร้อน พิษจะยับยั้งการทำงานของระบบประสาท ผู้ป่วยมักมีอาการหลังรับประทานอาหาร 30 นาที โดยมีอาการหูอื้อ และไร้ความรู้สึก เริ่มจากรอบปาก และแพร่ไปยังคอ และหน้า จากนั้นจะปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และอาจเสียชีวิตได้เมื่อระบบทางเดินหายใจไม่ทำงาน ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ

       ทั้งนี้ แมงดาทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วย หรือ เห-รา ตัวเล็กกว่าหางกลมเรียบ แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่มีพิษ ทั้งในเนื้อและไข่  อีกชนิดคือแมงดาจาน ที่ตัวใหญ่กว่าแต่หางรูปสามเหลี่ยมมีรอยหยัก แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้  อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงในการจำแนกชนิดของสัตว์แมงดาทะเลทั้งสองชนิด

       กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการรับประทานอาหารทะเลจำพวก แมงดาทะเล หากไม่ทราบชนิดหรือแยกไม่ออกไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีพิษรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากมีประชาชนสงสัยว่าได้รับพิษหรือมีอาการผิดปกติตามอาการข้างต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานอาหารที่สงสัย เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

 

                                                                    *******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 26 มีนาคม 2566



   
   


View 329    26/03/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ