กระทรวงสาธารณสุข ห่วงผลกระทบพิษเศรษฐกิจในขณะนี้ เสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดสารเสพติด แนะประชาชนทุกคนดูแลพฤติกรรมสมาชิกในครอบครัวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง ให้ได้ระดับ 5 ดาว ขณะนี้มีสถานบำบัดผ่านการรับรองคุณภาพแล้ว 334 แห่ง ปี 51 นี้ ตั้งเป้าพัฒนาอีก 91 แห่ง
เช้าวันนี้ (6 มิถุนายน 2551) ที่สถาบันธัญญารักษ์ จ.ปทุมธานี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือตามข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานบำบัดรักษายาเสพติดทุกระบบ ระหว่าง นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ม.ล.นพ. สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กับ นายนที จิตสว่าง อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายไพศาล วิเชียรเกื้อ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ เลขาธิการ ป.ป.ส. และนายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผอ.สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.)
นายไชยา กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกของประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการให้บริการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดทั้งระบบต้องโทษ ระบบบังคับและระบบความสมัครใจ เป็นมาตรฐานและมีเป้าหมายเดียวกันคือให้ผู้เสพเลิกเสพสารเสพติดอย่างเด็ดขาด และไม่หวนกลับไปติดยาซ้ำอีก โดยขณะนี้มีสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟู สมรรถภาพพ.ศ. 2545 จำนวนทั้งหมด 5,628 แห่ง ประกอบด้วยสถานพยาบาล 5,483 แห่ง วัด 35 แห่ง ค่ายบำบัดฟื้นฟู 110 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและบูรณาการระบบการบำบัดรักษาให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และมีคุณภาพในระดับ 5 ดาว
ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ น่าเป็นห่วงมาก มีความเสี่ยงสูง ต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีความเครียด หรือมีทุกข์ใจหันไปใช้วิธีแก้ปัญหาในทางที่ผิด โดยเฉพาะการพึ่งสารเสพติด และเกิดการเสพติดในที่สุด ดังนั้นประชาชนทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมสมาชิกในครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการตกเป็นทาสยาเสพติดรายใหม่ โดยล่าสุดมีผู้เสพสารเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20,000 ราย และคาดว่าทั่วประเทศขณะนี้มีผู้ใช้สารเสพติดประมาณ 5 แสนราย นายไชยา กล่าว
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการพัฒนามาตรฐานสถานบำบัดฟื้นฟู ซึ่งประกอบด้วยสถานพยาบาล ค่ายบำบัดและวัด แต่ละแห่งจะต้องมีองค์ประกอบ 9 มาตรฐาน เริ่มตั้งแต่บทบาท ความรับผิดชอบ การกำหนดทิศทางการบำบัด การจัดกำลังคน การพัฒนาเพิ่มพูนทักษะบุคลากร การประเมินผล การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้บำบัด ระบบการติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้ว ซึ่งเมื่อทุกแห่งมีมาตรฐานดังกล่าว จะทำให้ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้สารเสพติดทุกชนิดบรรลุผล ขณะนี้มีสถานบำบัดผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานแล้ว 334 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 289 แห่ง ค่ายบำบัดฟื้นฟู 23 แห่ง และวัด 22 แห่ง ในปี 2551 ตั้งเป้าพัฒนาให้ได้การรับรอง 91 แห่ง
ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการติดตามในปี 2550 ทั่วประเทศมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ 57,751 คน กว่าร้อยละ70 เป็นผู้ใช้ยาบ้า โดยร้อยละ 19 สมัครใจเข้ารักษา ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 81 มาจากการบังคับบำบัด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ พ.ศ.2545 ที่จัดว่าผู้เสพทุกคนเป็นผู้ป่วย จากการติดตามผลหลังผ่านบำบัดแล้ว 1 ปี พบว่าร้อยละ 96 สามารถเลิกเสพได้อย่างเด็ดขาด ในจำนวนนี้ร้อยละ 59 กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม โดยในปี 2551 ตั้งเป้าบำบัดรักษาและฟื้นฟู 66,500 คน
มิถุนายน ************************************* 6 มิถุนายน 2551
View 9
06/06/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ