สาธารณสุข เผยข่าวดีคนไทย พบอาหารไทยมีวิตามิน โฟเลท สามารถป้องกันโรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง ปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็กแรกเกิด และการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ วิตามินชนิดนี้อุดมในผลไม้และผักสด ได้แก่ สับปะรดศรีราชา มะละกอแขกดำสุก ส้มโชกุน ผักโขม แขนงกะหล่ำ ผักกาดหางหงส์ คะน้า
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งควรกินผักผลไม้ให้ได้ 500 กรัม หากทุกครัวเรือนสามารถปฏิบัติได้ ก็จะป้องกันปัญหาอ้วนหรือน้ำหนักเกินได้ รวมทั้งไม่ต้องพึ่งพาอาหารเสริมหรือวิตามินต่างๆ นอกจากนี้ ในผักผลไม้มีวิตามินที่มีชื่อว่า โฟเลท มีความสำคัญในการสร้างเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายให้เจริญเติบโต รวมทั้งระบบสืบพันธุ์ซึ่งเป็นเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว หากขาดสารโฟเลท จะทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์หยุดชะงัก โดยเฉพาะเซลล์ที่เติบโตเร็ว เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดงในไขกระดูก ทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดที่เรียกว่าเมกาโลบลาสติก แอนนีเมีย (Megaloblastic Anemia) และยังมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดประสาทพิการ และปากแหว่งเพดานโหว่ในทารกแรกเกิด
นอกจากนั้น สารโฟเลทยังมีส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ ขณะนี้คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงอันดับ 1 ติดต่อกัน 7 ปี และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากในปี 2543 เสียชีวิตจำนวน 39,091 ราย เป็น 52,062 รายในปี 2549 จากรายงานการวิจัยพบว่า หากปริมาณสารโฟเลทในเลือดต่ำ จะเป็นจุดอ่อนทำให้สารก่อมะเร็งเข้าโจมตีเซลล์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ เซลล์เปลี่ยนรูปร่าง กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังมีการศึกษาวิจัยสารโฟเลทในอาหารน้อย จึงได้มอบหมายให้กองโภชนาการ กรมอนามัยดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สารโฟเลทในอาหารไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่งเสริมให้ประชาชนไทยบริโภคเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แทนการพึ่งยาหรือวิตามิน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการขาดสารโฟเลท ได้แก่ กลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในวัยที่สามารถมีลูกได้หรือที่เรียกว่าวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งมีประมาณ 16 ล้านคนทั่วประเทศ รวมทั้งหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และเด็กเล็กซึ่งมีประมาณปีละ 800,000 คน ซึ่งต้องอาศัยสารโฟเลทในการสร้างเซลล์ต่างๆในร่างกายให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ศึกษาปริมาณของสารโฟเลทในอาหารไทยในรอบ 2 ปีมานี้ โดยศึกษาในอาหาร 4 กลุ่มใหญ่ อย่างละ 5 ชนิด ได้แก่ 1.กลุ่มธัญพืชสดและแปรรูป ได้แก่ ข้าวหอมมะลิขัดขาว ข้าวเหนียว ข้าวกล้องหอมมะลิซ้อมมือ ถั่วแดงหลวง ข้าวแตน 2.กลุ่มผักสดและผักแปรรูป ได้แก่ ผักคะน้า แขนงกะหล่ำ ผักโขม ผักกาดหางหงส์ ผักกาดดองเค็ม 3. กลุ่มผลไม้สดและแปรรูป ได้แก่ ส้มโชกุน สับปะรดศรีราชา ฝรั่งแป้นสีทอง มะละกอแขกดำสุก แยมสับปะรด 4.กลุ่มเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ เนื้อหมูสันใน เนื้อวัวสะโพก เนื้อไก่อก เนื้อปลาดุก ไส้กรอกหมู
ผลการศึกษาอาหาร 4 กลุ่ม ในปริมาณ 100 กรัม พบว่า กลุ่มผลไม้มีโฟเลทสูงกว่าทุกกลุ่ม โดยสับปะรด ศรีราชาพบสูงสุด 301 ไมโครกรัม ส้มโชกุน มี 293 ไมโครกรัม มะละกอแขกดำสุก 256 ไมโครกรัม ฝรั่งแป้นสีทองมี 115 ไมโครกรัม ต่ำสุดคือแยมสัปปะรดมี 2 ไมโครกรัม กลุ่มธัญพืชฯ พบข้าวกล้องหอมมะลิซ้อมมือมีโฟเลทสูงที่สุด 263 ไมโครกรัม ข้าวแตนมี 6 ไมโครกรัม กลุ่มผักพบผักโขมมีสูงที่สุด 160 ไมโครกรัม แขนงกะหล่ำ 97 ไมโครกรัม ผักกาดดองเค็มมี 4 ไมโครกรัม กลุ่มเนื้อสัตว์พบเนื้อหมูสันในมีโฟเลท 156 ไมโครกรัม เนื้ออกไก่ 61 ไมโครกรัม
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาทั้ง 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปหรือผ่านการปรุงจากความร้อนมาแล้ว ปริมาณโฟเลทจะลดลง เนื่องจากวิตามินชนิดนี้สามารถละลายน้ำได้ ถูกทำลายง่ายด้วยความร้อนที่ปรุงอาหาร ทั้งวิธีการหุงต้ม การลวก การนึ่ง การอุ่นซ้ำ ผักจำพวกกะหล่ำปลี มันเทศ แครอท นึ่งนานประมาณ 20 60 นาที จะทำให้สูญเสียโฟเลทร้อยละ 90 ในการปรุงอาหารเนื้อหมู เนื้อวัว จะสูญเสียโฟเลทร้อยละ 75-95 ส่วนปลา ไก่ จะสูญเสียร้อยละ 60-70 ส่วนการหุงข้าวสูญเสียโฟเลทไปร้อยละ 75
ดังนั้นการรับประทานอาหารเพื่อให้ได้ปริมาณโฟเลทสูงสุด และเพียงพอต่อความต้องการร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่สามารถกินสดได้ ก็คือผักสดและผลไม้ แต่ต้องล้างให้สะอาดก่อน เพื่อขจัดสารพิษที่อาจปนเปื้อนออกไป สำหรับอาหารที่ต้องผ่านกระบวนการปรุงให้สุกก่อนรับประทาน ควรมีวิธีการปรุงที่ถนอมโฟเลทไว้ให้สูญเสียน้อยที่สุด เช่น ใช้วิธีนึ่งที่ความร้อนต่ำ ๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ และควรรับประทานอาหารที่โฟเลทเป็นประจำ ที่สำคัญควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมของโฟเลทเข้าร่างกายได้
ทั้งนี้ ต่อวันประชาชนในแต่ละกลุ่ม ควรได้รับสารอาหารโฟเลทให้เพียงต่อร่างกาย คือใน 1 วัน ทารกแรกเกิด และเด็กอายุ 0 - 5 เดือนได้รับอย่างเพียงพอจากน้ำนมแม่ อายุ 6 - 11 เดือนควรได้รับ 80 ไมโครกรัม เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีควรได้รับ 200 ไมโครกรัม กลุ่มอายุ 9 - 18 ปีควรได้รับ 300 - 400 ไมโครกรัม อายุ 19-71 ปีควรได้รับ 400 ไมโครกรัม กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับเพิ่มจากปกติเป็น 600 ไมโครกรัม ในกลุ่มหญิงที่กำลังให้นมบุตรตั้งแต่แรกเกิด - 11 เดือน ควรได้รับเพิ่มจากปกติเป็นวันละ 500 ไมโครกรัม ที่น่าห่วงขณะนี้ยังมีหญิงหลังคลอด มีความเชื่อให้กินยาดองเหล้าขาว เพื่อขับน้ำคาวปลา ซึ่งจะทำให้ทั้งแม่และลูกขาดวิตามินโฟเลทได้ นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าว
************************** 13 มกราคม 2551
View 6
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ