กระทรวงสาธารณสุข ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้เลือดออกและการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 2 คน ร่วมทีมประเทศศรีลังกา และองค์การอนามัยโลกวางแผนควบคุมโรคไข้เลือดออก พร้อมสนับสนุนสารน้ำเข้มข้นพิเศษที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อค

ศ.คลินิค เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ (5 กรกฎาคม 2560) กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก 2 ท่านเดินทางไปสนับสนุนการทำงานของประเทศศรีลังกา ซึ่งในปีนี้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสูงกว่าปีที่ผ่านมา    โดยทำงานร่วมกับทีมประเทศ ศรีลังกาและองค์การอนามัยโลก ในการประเมินสถานการณ์ และวางแผนการให้ความช่วยเหลือในการตอบสนองต่อการระบาดของโรค พร้อมนำสารน้ำเข้มข้นพิเศษที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อคจำนวนหนึ่ง และจะจัดส่งเพิ่มเติมตามสถานการณ์ต่อไป 
 
สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ประกอบด้วย ศ.คลินิก แพทย์หญิงศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งมีประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกมานานกว่า 30 ปี เพื่อให้คำปรึกษาแนวทางการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รวมทั้งการจัดตั้งจุดให้สารน้ำเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออก ในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลและในชุมชน เพื่อป้องกันภาวะช็อคและการเสียชีวิตของผู้ป่วย  และนายแพทย์จีรพัฒน์  ศิริชัยสินธพ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การระบาดของโรค มาตรการควบคุมยุงลาย รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชน โดยจะปฏิบัติงานที่ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2560
 
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย แนวโน้มผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นจากอดีต แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเนื่องจากเทคโนโลยีในการดูแลรักษาดีขึ้น มาตรการดำเนินงานที่สำคัญคือการป้องกันควบคุมโรค เน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายและยุงลายตัวแก่โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตามนโยบายประชารัฐสานพลังปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยใช้มาตรการหลัก “3 เก็บ 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะช่วยป้องกันประชาชนจากการป่วยและเสียชีวิตจาก 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  
 
ทั้งนี้ รายงานสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม - 3 กรกฎาคม 2560 พบผู้ป่วย 18,521 คน เสียชีวิต 29 คน อัตราป่วยสูงสุดที่ภาคใต้ รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 ************************************ 5 กรกฎาคม 2560
 
 
 
 
 
 
 
****************************


   
   


View 25    05/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ