โฆษกคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ รับมอบหนังสือสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จาก 3 องค์กรทางการแพทย์
วันนี้ (4 กรกฎาคม 2560) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ....กล่าวภายหลังรับมอบหนังสือสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จาก ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ (สพศท.) และอุปนายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศว่า จะได้ยื่นข้อเสนอจาก3 องค์กรเพื่อนำไปมอบให้ประธานและคณะกรรมการ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่จะประชุมในวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 นี้ เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่รับฟังทั้งประเด็นที่เห็นด้วย เห็นต่าง หรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
ในการจัดรับฟังความคิดเห็น ได้ปฏิบัติตามกฎหมายมาตรา 77 ฟังเสียงรอบด้านอย่างกว้างขวาง โดยจัดทำใน 3 รูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ได้แก่ ช่องทางออนไลน์ ช่องทางเวทีประชาพิจารณ์เปิดให้แสดงความเห็นในบรรยากาศของการสมานฉันท์ โดยให้ตัวแทนทั้ง 3 ภาค สลับกันขึ้นกล่าวบนเวที ทั้งภาคประชาชนหรือภาคสังคม ภาควิชาการ และภาคราชการหรือหน่วยงานท้องถิ่น คนละ 3 นาที และช่องทางสำหรับบุคคลที่ลงทะเบียนหน้างาน ซึ่งอาจไม่มีโอกาสขึ้นกล่าวบนเวที แต่อย่างไรก็ตามมีการบันทึกวิดีโอสามารถเปิดดูย้อนหลัง ถือเป็นการเปิดกว้างและเป็นธรรมในการรับฟังเสียงของทุกภาคส่วน ดำเนินด้วยการสุจริต โปร่งใส และสามารตรวจสอบได้
กระบวนการในการเสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ขณะนี้ ดำเนินการมาใกล้จะหมดหน้าที่ของคณะกรรมการร่างฯแล้ว ก่อนที่จะมอบให้ประธานกรรมการพิจารณา ผลการประชาพิจารณ์สรุปความเห็นว่าจะปรับเนื้อหาหรือไม่อย่างไรและนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากพิจารณาข้อมูลการประเมินผลกระทบจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นกลาง โดยคำนึงถึงพี่น้องประชาชนที่ต้องได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งท่าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขฯ ก็พยายามทำตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
นพ.มรุต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อกังวลที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ 1.เรื่องสัดส่วนคณะกรรมการที่มีการเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการนั้น เนื่องจากกรรมการร่างฯต้องการให้ผู้ให้บริการเข้ามามีส่วนร่วม นำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน ที่มาจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ รพ.เอกชน รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย รพ.สังกัดกระทรวงกลาโหม รพ.สังกัด กทม. เป็นต้น 2. ประเด็นการเป็นรองประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นเนื่องจากอยากให้มีรองประธานเพื่อช่วยคิด ช่วยทำให้การประชุมผ่านไปได้ด้วยดี คงไม่เป็นประเด็นยึดติด อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ 3.ประเด็นคณะกรรมร่างมีความเห็นว่า บอร์ด สปสช.ควรมาจากผู้เกี่ยวข้องอย่างหลากหลายและครบถ้วน ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้หน่วยงานใดยึดครองโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โครงการฯมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
***************** 4 กรกฎาคม 2560
**********************
View 27
04/07/2560
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ