กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานพยาบาลในพื้นที่น้ำท่วมยังสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ พร้อมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ต่อเนื่อง วันนี้ได้จัดส่งยารักษาโรคกว่า 25,000 ชุด ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดอ่างทองและสิงห์บุรี สรุปยอดประชาชนเจ็บป่วยจากน้ำท่วมแล้วกว่า 14,000 ราย ส่วนมากเป็นไข้หวัด น้ำกัดเท้า และผื่นคัน ยังไม่พบโรคระบาด เตือนคนแก่-เด็กเล็กเสี่ยงเจ็บป่วยง่ายโดยเฉพาะไข้หวัด ต้องระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ตั้งแต่วันที่ 8-17 ตุลาคม 2550 ได้รับรายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งหมด 14 จังหวัด 53 อำเภอ 244 ตำบล 1,478 หมู่บ้าน สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ขณะนี้ทุกแห่งยังคงเปิดให้บริการได้ตามปกติ และได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีประชาชนเจ็บป่วยมารับบริการรวม 14,009 ราย โรคที่ป่วยมากสุดได้แก่ ไข้หวัด 3,599 ราย รองลงมาเป็นโรคน้ำกัดเท้า 2,849 ราย ผื่นคัน 2,659 ราย และเครียด 915 ราย นอกจากนี้ ยังได้ควบคุม เฝ้าระวังปัญหาโรคระบาดที่มักพบในช่วงน้ำท่วม เช่น อุจจาระร่วง ตาแดง โรคฉี่หนู ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบมีการระบาดแต่อย่างใด
ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วย ประกอบด้วยยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ผงเกลือแร่แก้ท้องเสีย ยาแก้ไอขับเสมหะ ยาดมแก้วิงเวียน ยาแก้แพ้ น้ำยาล้างแผล ส่งให้จังหวัดสิงห์บุรีอีกจำนวน 5,000 ชุด และจังหวัดอ่างทอง จำนวน 10,000 ชุด รวมทั้งยารักษาโรคน้ำกัดเท้าจำนวน 10,000 ตลับด้วย เนื่องจากประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ มีปัญหาโรคน้ำกัดเท้าจำนวนมาก จากน้ำที่ท่วมขังหลายวัน
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่ชื้นแฉะประกอบกับอากาศที่เย็นลงนี้ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง สภาพอากาศจะมีความชื้นสูงกว่าปกติอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังรักษาสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะคนแก่และเด็กเล็ก จะเสี่ยงเป็นไข้หวัดง่าย เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานน้อย ต้องดูแลสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน หากเป็นไข้ให้รีบไปพบแพทย์ใกล้บ้านโดยเร็ว นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ในส่วนความคืบหน้าของของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งน้ำจากท้ายเขื่อนลำตะคองได้เอ่อล้นเข้าท่วมเมื่อวานนี้ (17 ตุลาคม 2550) ขณะนี้ได้เร่งสูบน้ำออกจนแห้งแล้ว มีเพียงบริเวณถนนหน้าโรงพยาบาลที่น้ำยังท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร รถยนต์สามารถผ่านได้ และโรงพยาบาลสามารถให้บริการได้เป็นปกติเช่นกัน
******************************************** 18 ตุลาคม 2550
View 10
18/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ