กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการพร้อมรับเทศกาลสงกรานต์ปี 60 ส่งทีมลงพื้นที่ ตรวจเตือนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลงพื้นที่ 11 จังหวัด เดินทางขับขี่ปลอดภัย “ไม่ดื่ม ไม่เร็ว ไม่โทร สวมหมวกนิรภัย-คาดเข็มขัดนิรภัย ปฏิบัติตามกฎจราจร”เตรียมพร้อมสถานบริการทุกแห่ง เจ็บป่วยฉุกเฉินโทร.1669


วันนี้(10 เมษายน 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พ.ต.อ.ชาคริต มงคลศรี ผู้กำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจทางหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เทศกาลสงกรานต์ 2560 ของกระทรวงสาธารณสุข “ถนนปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์” (No Alcohol for Road Safety) ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2560 เพื่อให้ประชาชนเดินทางไปกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร
 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจร โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาคนไทยเสียชีวิตมากขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตใน 100 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 40 และมีการดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 34 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น 15-24 ปี และเป็นรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80 ระหว่างปีพ.ศ.2555-2559 มีผู้เสียชีวิต 2,098 คน เฉลี่ยปีละ 420 คน วันละ 60 คน บาดเจ็บ 1.3 แสนคน เฉลี่ยปีละ 27,052 คน ชั่วโมงละ 160 คน จำนวน 1 ใน 4 เป็นเด็กอายุระหว่าง 15-19 ปี สาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับวันละ 8-10 คน ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นกำลังหลักของครอบครัว ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับไม่สวมหมวกนิรภัย 
 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ดำเนินการป้องกันและการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ ได้แก่ เน้นการเตือนอย่างเข้มข้น ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม การขายให้กับเด็กอายุ ต่ำกว่า 20 ปี และในช่วงเวลาห้ามขาย ให้มีการสอบสวนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสอบถามแหล่งจำหน่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลงพื้นที่ในการตรวจ/เตือนให้โรงพยาบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่กรณีเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตรวจและเตือนกลุ่มเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนและร่วมมือประชาคมตั้งด่านชุมชน และการนำเสนอข้อมูลผ่านศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด/อำเภอ
 

นพ.โสภณ เมฆธน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมสถานบริการทุกแห่ง และมีทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ 14,576 หน่วย ประกอบด้วย  หน่วยปฏิบัติการระดับสูง  2,167 หน่วย  หน่วยปฏิบัติการระดับพื้นฐาน 2,008 หน่วย  และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น 9,871 หน่วย  มีแพทย์ พยาบาล และ หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 164,939  คน หากประชาชนประสบเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่ หมายเลข 1669  เพื่อความปลอดภัย ลดการบาดเจ็บ เสียชีวิต และเกิดความพิการน้อยที่สุด ตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบายด้านการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”(Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)  ประชาชนทุกคนไม่ว่าสิทธิสุขภาพใดก็ตาม เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่โดยโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือจุดเกิดเหตุที่ใกล้ที่สุดได้ทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก และเมื่อพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้วก็ทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสิทธิต่อไป ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา จะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิในการ เข้ารับการรักษาอย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน สงกรานต์ปีนี้ ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า หากเกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีคุณภาพ
 

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เน้นย้ำให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ทำงานในเชิงรุกโดยช่วงก่อนเทศกาล ให้มีการออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในช่วงเทศกาลให้มีการบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศ เข้มข้นใน 100 อำเภอที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่จัดการเล่นน้ำสงกรานต์ ต้องเป็นพื้นที่ปลอดเหล้าทั้งการขายและการดื่ม 100% โดยเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง และให้มีการสอบสวนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ถามถึงแหล่งจำหน่ายและลงพื้นที่ตรวจ/เตือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก

ทั้งนี้ เทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ.2559 พบว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 29 มีการดื่มแล้วขับพบในกลุ่มอายุ 20-24 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 15-19 ปี ซึ่งกลุ่มนี้ตามกฎหมายกำหนดให้ห้ามขายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี พบว่าเป็นกลุ่มที่มีการดื่มสุราและบาดเจ็บสูงมาก ยังพบร้านค้ามีการกระทำผิด ทั้งการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย และการขายด้วยวิธีห้ามขาย โดยมีการตรวจทั้งสิ้น 1,035 แห่ง พบการกระทำผิดกฎหมายและมีการดำเนินคดี 379 ราย

ขอให้ประชาชนสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมาย หากพบเห็นผู้กระทำผิด เกี่ยวกับการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา สถานที่ราชการ  สถานศึกษา  สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา  สวนสาธารณะของทางราชการ ขายในเวลาห้ามขาย การเร่ขาย และการโฆษณาส่งเสริมการขาย สามารถโทรศัพท์แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค  โทรศัพท์ 0 2590 3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชม. 
 

ทางด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาตั้งแต่ปี 2546 ได้พัฒนามาตรการ นโยบายและการรณรงค์สังคมอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น โดยสนับสนุนการดำเนินงานในภาพรวมไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ในช่วงเทศกาลมีการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าช่วงเวลาปกติ โดยอุบัติเหตุที่เกิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 มีสาเหตุมาจากเมาสุรา เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 34.09 รองลงมาขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93

สสส. จึงได้ใช้เป็นวาระในการรณรงค์กระตุ้นเตือนสังคมเป็นพิเศษ โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ได้จัดทำแคมเปญ “สงกรานต์ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” และภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ เรื่อง “วันสุดท้าย” นำเสนอผลกระทบของการดื่มแล้วขับ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและสูญเสียชีวิต เพื่อสร้างกระแสการกระตุ้นเตือนให้ขับขี่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่และไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์นี้ ให้เดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวด้วยความปลอดภัย โดยไม่ต้องมีใครบาดเจ็บและสูญเสีย               

********************* 10 เมษายน 2560
 


   
   


View 19    10/04/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ