กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด จัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ เป็นบริการโดยความสมัครใจ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ภายหลังเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรอรับยาได้ที่บ้านตนเอง โรงพยาบาลในสังกัด 19 แห่ง

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด นายมานิตย์ สุประภาศ รองกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการฯ และนายสมประสงค์ เนตรสว่าง  รองกรรมการผู้จัดการด้านตลาดและพัฒนาธุรกิจฯ  ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ”ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดพัฒนาระบบบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ เข้าถึงบริการได้สะดวก ลดเวลารอรับบริการในโรงพยาบาล ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนสูงถึง 187,632,580 ครั้ง แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงความแออัด มีระยะเวลาการรอคอยในการรับยา การชำระค่าบริการ ปัญหาของการจราจรติดขัดหรือไม่มีที่จอดรถ เป็นต้น ดังนั้น จึงได้พัฒนาระบบคุณภาพในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้รวดเร็วขึ้น ได้รับบริการที่สะดวกขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับยา ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระการสำรองยาคงคลังของโรงพยาบาล และลดปริมาณการจ่ายยาให้ผู้ป่วยครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเสื่อมคุณภาพของยาได้ ด้วยบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาในโรงพยาบาลไปยังบ้านของผู้ป่วย

กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นว่า“บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด”ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ ที่จะช่วยให้ยาไปถึงมือผู้ป่วยโดยเร็ว มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ด้วยบริการจัดส่งที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ GSP (Good Storage Practice) และGDP (Good Distribution Practice)จึงได้มีการลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วยฯ เป็นทางเลือกใหม่ และเป็นบริการโดยความสมัครใจของผู้ป่วยหรือญาติ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยภายหลังเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรอรับยาได้ที่บ้านตนเอง  รวมทั้งมีบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาโรงพยาบาลไปยังหน่วยบริการอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 

ในการพัฒนาดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายดังนี้ 1.ลดปริมาณผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล 2.ลดปริมาณยาและเวชภัณฑ์คงคลังของโรงพยาบาล 3.ลดการสูญเสียยาและเวชภัณฑ์จากการที่ผู้ป่วยไม่รับประทานหรือทิ้ง 4.ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของผู้ป่วยทุกสิทธิ์ 5.ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของโรงพยาบาลในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ และ6.เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในภาพรวม โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง คือ รพ.บุรีรัมย์ รพ.สงขลา รพ.สุรินทร์ รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.ศรีสะเกษ รพ.กาฬสินธุ์ รพ.แพร่ รพ.นครพิงค์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.ขอนแก่น รพ.ร้อยเอ็ด รพ.ลำปาง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.พุทธชินราช รพ.หาดใหญ่ รพ.อุดรธานี รพ.มหาสารคราม และรพ.อุตรดิตถ์ ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลที่เหลือต่อไป

(ขอบคุณภาพจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด)

 ***กุมภาพันธ์4/6 ********************* 27 กุมภาพันธ์ 2560



   
   


View 24    27/02/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ