กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนใช้มาตรการ“ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณเดือนละ 13,000 ราย พร้อมขอความร่วมมือสถานศึกษาทุกแห่ง คัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน และพิจารณาปิดสถานศึกษา เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ   

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2560) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ประกาศปิดสถานศึกษาเนื่องจากมีนักเรียนป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักอนามัย กทม.สอบสวนและควบคุมโรคในโรงเรียนดังกล่าวแล้ว พร้อมให้คำแนะนำมาตรการป้องกันโรคให้แก่คณะครูและผู้ปกครอง ซึ่งสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2560 มีผู้ป่วย 4,875 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากในกลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-14 ปี โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีผู้ป่วยมากกว่า 300,000 ราย โดยเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณเดือนละ 13,000 ราย
สำหรับในกทม. สัปดาห์ที่ผ่านมามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกทม. ดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอแนะนำประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โดย 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปาก และจมูก หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดควรใช้หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4.หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วันนับจากวันเริ่มป่วยหรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน
ด้านนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสถานศึกษา มีข้อแนะนำในการป้องกันควบคุมโรค 5 ข้อดังนี้ 1.มีระบบคัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน พิจารณาจากอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก หากพบ ให้แยกออกและใส่หน้ากากอนามัย แจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับและให้พักฟื้นที่บ้าน 2.พิจารณาปิดสถานศึกษา เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ โดยพิจารณาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายผู้ปกครอง 3.สถานศึกษาทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ถึงความจำเป็นที่จะให้ผู้ป่วยหยุดเรียน 4.จัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ที่ห้องพยาบาล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวม  และ 5.ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรค แก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
 

ทั้งนี้ ประชาชนควรดูแลตนเองด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหาร ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ที่สำคัญ หากมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีไข้สูง ต้องรีบพบแพทย์ทันทีภายใน 48 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ 1.หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง2 ปีทุกคน 3.ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422    

 

*****************6กุมภาพันธ์ 2560


   
   


View 22    25/04/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ