กระทรวงสาธารณสุข จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทตั้งเป้า 7 ปี ผลิตให้ได้ 560 คน เฉพาะปี 2550 รับเด็กนักเรียนจากชนบทในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าเรียน 112 คน และพัฒนาโรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษา จัดการเรียนการสอนในภาคคลินิก เพิ่มอีก 2 แห่ง สร้างประสบการณ์ความเชื่อมั่นแพทย์ที่จบโครงการนี้ คุ้นเคยโรคท้องถิ่นดีขึ้น
วันนี้ (27 กันยายน 2550) ที่โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ศ.นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายแพทย์วิทยา จารุพูนผล ผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น นายแพทย์กวี ไชยศิริ ผู้อำนวยการ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ นายแพทย์เจริญ มีชัย ผู้อำนวยการ รพ.อุดรธานี และนายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการ รพ.มหาสารคาม ร่วมลงนาม
การลงนามความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 เพื่อผลิตแพทย์ในโครงการเร่งรัดการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปี 2547-2556 มีแผนจะรับนักศึกษาทั้งหมด 560 คน ปีละ 80 คน รวม 7 รุ่น และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามแผนการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข อีกปีละ 32 คน ตั้งแต่พ.ศ.2550-2552 รวมผลิตปีละ 112 คน เด็กที่เรียนทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาให้ รพ.อุดรธานีและรพ.มหาสารคาม เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษา เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.ขอนแก่นและรพ.ประสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เพื่อเป็นสถานที่ฝึกสอนในระดับชั้นคลินิกชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งจะทำให้แพทย์ที่จบจากโครงการนี้ มีทักษะความรู้ในการดูแลรักษาโรคในท้องถิ่นอย่างดี เมื่อไปทำงานจะมีความคุ้นเคยกับโรคและท้องถิ่น ให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างดี ทั้งนี้ การผลิตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2538-2549 รับนักศึกษาเข้าศึกษาทั้งหมด 365 คน ขณะนี้สำเร็จการศึกษาแล้ว 7 รุ่น รวม 95 คน รุ่นสุดท้ายจะจบในพ.ศ. 2555
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ทั้งในด้านจำนวนและการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ผลสำรวจแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2549 มีทั้งหมด 9,375 คน อัตรา 1 คนต่อประชากร 6,700 คน ซึ่งมากกว่ามาตรฐานโลก 4 เท่าตัว กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เป็นโครงการ 10 ปี เริ่ม พ.ศ. 2538-2549 รับเข้าศึกษาทั้งหมด 2,982 คน ขณะนี้สำเร็จการศึกษากลับไปทำงานตามภูมิลำเนาแล้ว 7 รุ่น รวม 1,096 คน ซึ่งยังไม่เพียงพอในภาคบริการ จึงได้เพิ่มการผลิตแพทย์อีก 2 โครงการ คือโครงการเร่งรัดการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท พ.ศ.2547-2556 มีเป้าหมายผลิต 3,807 คน ขณะนี้รับนักศึกษาไปแล้ว 622 คน โดยตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป จะเร่งดำเนินการผลิตตามแผนปีละประมาณ 500 คน และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามแผนการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข พ.ศ.2549-2552 เป้าหมายผลิตอีก 2,798 คน ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการผลิตทั้ง 3 โครงการ คือภายใน พ.ศ.2561 จะได้แพทย์จบออกมาดูแลประชาชนรวมทั้งหมด 9,580 คน ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการผลิตแพทย์เพิ่มทั้ง 3 โครงการนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแพทย์ 9 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คัดเลือกเด็กนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ ที่มีผลการเรียนดี เข้าศึกษาตามหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี เหมือนแพทย์ในระบบสอบเอ็นทรานซ์ปกติ โดยเรียนภาคทฤษฎีใน 3 ปีแรก ที่คณะแพทยศาสตร์ และศึกษาในภาคคลินิกในชั้นปีที่ 4-6 ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 26 แห่งของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้แพทย์มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่พบในแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อจบแล้วจะส่งตัวกลับไปทำงานตามภูมิลำเนาเดิม ใช้ทุน 3 ปี
ด้านนายแพทย์สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทกล่าวว่า จากการติดตามแพทย์ที่จบจากโครงการนี้ พบได้ผลดีมาก การทำงานในชุมชนราบรื่นมาก เพราะเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว การลาออกจากราชการน้อยกว่าแพทย์ในระบบเอ็นทรานซ์ถึง 5 เท่า โดยมีผลการศึกษาปัจจัยที่ทำให้แพทย์ยังคงอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ซึ่งศึกษาแพทย์ที่มีอายุราชการ 2 ปีขึ้นไปทุกคน ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน 2550 จำนวน 2,959 คน พบว่านอกเหนือจากรายได้ ซึ่งเฉลี่ยคาดหวังอยู่ที่ 52,832 บาทต่อเดือนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลได้แก่ ภูมิลำเนาเกิด ก็เป็นจุดดึงดูดให้คนทำงานในชนบท ส่วนภาระงานที่เพิ่มขึ้นภายหลังนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าไม่มีผลแต่อย่างใด ชี้ให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลที่คัดเลือกคนในชนบทเข้าเรียนแพทย์ ได้ก้าวมาถูกทิศทาง เป็นนโยบายที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นต่อไป
************************** 27 กันยายน 2550
View 12
27/09/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ