สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 642 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (5 มกราคม 2560) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายแพทย์สุวรรณชัย เจริญวัฒนชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ องค์การมหาชน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของสังคมปัจจุบัน ดังนั้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ให้วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัย เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีคุณภาพ รวมถึงนำข้อมูลในระบบการรักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกันดูแลสุขภาพมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพสำหรับประชาชนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ให้ประชาชนรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงพยาบาลชุมชน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพ เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค Thailand 4.0
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่ 1.ผลักดันให้หน่วยงานใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐ หรือเครือข่าย GIN อย่างเต็มประสิทธิภาพ และควบคุมความเสี่ยงไม่ให้เป็นช่องเข้าถึงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ 2.กำกับ ติดตาม การใช้ระบบสำรองและจัดเก็บข้อมูลกลางของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เกิดความคุ้มค่า 3.จัดทำและตรวจสอบเนื้อหาการรับรู้ด้านสุขภาพ ให้อยู่ในรูปแบบ Digital Health Literacy ให้เป็นปัจจุบัน เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านสุขภาพโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย 4.สนับสนุนการใช้ศูนย์กลางบริการภาครัฐฯ หรือ GovChannel เป็นช่องทางส่งต่อบริการสาธารณสุขถึงประชาชน
5.ร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและสาธารณสุข 6.จัดทำแนวทางปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้ประโยชน์จากระบบสื่อสารภายในองค์กรภาครัฐอย่างจริงจัง พร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น 7.ดำเนินการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Tele-Medicine ในพื้นที่ต้นแบบ ระหว่างโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เกือบ 120 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาประชาชนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และ8.สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน โดยบันทึกดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 – 2565 และกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและขับเคลื่อน
******************* 5 มกราคม 2560