รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข เผยนักศึกษาพยาบาล 3,000 คน ในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีความตั้งใจเรียนสูงมาก เตรียมวางแผนส่งฝึกงานในพื้นที่จริงในชั้นปีที่ 2 เพื่อเป็นพยาบาลที่มีคุณภาพ เข้าใจและแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างแท้จริง
เช้าวันนี้ (26 กันยายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเยี่ยมคณาจารย์พยาบาล และนักศึกษาพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี เพื่อให้กำลังใจและติดตามความเป็นอยู่ของนักศึกษา ตลอดจนความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอน หลังจากที่เริ่มเปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2550 จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 2 เดือนเศษ
นายแพทย์มรกต กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมหลายๆ แห่ง พบว่าทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ทั้งนักศึกษา เพื่อนๆ และอาจารย์ ต่างปรับตัวเข้ากันได้อย่างดี การเรียนการสอนเป็นไปด้วยดี นักศึกษาในโครงการฯ 3,000 คน ทุกคนมีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการเรียนสูงมาก เป็นที่ชื่นชมของคณาจารย์ ได้เน้นวิทยาลัยพยาบาลทุกแห่งให้ความสำคัญกับคุณภาพของนักศึกษาเป็นลำดับแรกๆ เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้ เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่จะได้บุคลากรให้บริการอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ทัดเทียมพื้นที่อื่นๆ ที่สำคัญคือเป็นเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนในพื้นที่เอง มีความเข้าใจลึกซึ้งถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม ความเชื่อถือศรัทธาทางศาสนา มั่นใจว่าจะเป็นผู้สื่อสารให้ความรู้ด้านสุขภาพต่างๆ แก่ประชาชน เพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่เรื้อรังมานาน เช่น เด็กขาดสารอาหาร การตายของมารดาและทารกหลังคลอด ซึ่งยังมีสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งโรคติดต่อสำคัญ อาทิ ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง เป็นต้น
ด้าน ดร.ชุติมา ปัญญาพินิจนุกูร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี กล่าวว่า ในปีนี้วิทยาลัยได้รับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต 4 ปี หรือพยาบาลวิชาชีพ ทั้งหมด 200 คน ประกอบด้วยนักศึกษาที่มาจากการคัดเลือกในระบบปกติ 85 คน ที่เหลืออีก 115 คนเป็นนักศึกษาตามโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นชาย 25 คน และหญิง 90 คน โดยมาจากจังหวัดนราธิวาส 39 คน ปัตตานี 38 คน ยะลา 22 คน สงขลา 10 คน และสตูล 6 คน ร้อยละ 92 นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งทางวิทยาลัยได้จัดกลุ่มพี่เลี้ยงและกลุ่มเพื่อนสนิท คอยให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วย
สำหรับการเรียนการสอน เนื่องจากนักศึกษาตามโครงการฯ นี้ มีความหลากหลาย โดยมีอายุตั้งแต่ 18 ปี จนถึงสูงสุด 31 ปี มีพื้นฐานทางการศึกษาต่างๆ กัน วิทยาลัยได้จัดให้มีการสอนเสริมในรายวิชาที่สำคัญ รวมทั้งจัดประสบการณ์เรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่อง ประวัติศาสตร์ชาติไทย ศาสนาเปรียบเทียบ การปรับความคิดและทัศนคติในการอยู่ร่วมกันในสังคม อุดมการณ์รักชาติ รักสันติภาพ ทักษะด้านมวลชนสัมพันธ์ การผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการพยาบาล เป็นต้น หลังจากเรียนภาคทฤษฎีแล้ว ในชั้นปีที่ 2 วางแผนจะส่งนักศึกษากลับไปฝึกภาคปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้นักศึกษาในโครงการฯ ได้เรียนรู้การทำงานจริงในพื้นที่ สามารถปฏิบัติงานในที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจบการศึกษา 4 ปี แล้ว
************************************ 26 กันยายน 2550
View 14
26/09/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ