วันนี้ (18 สิงหาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข  พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ

พลเรือเอกณรงค์ กล่าวว่า ประเทศไทย มีรายงานการเกิดโรคอุบัติใหม่เป็นระยะ เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อในประเทศและเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยร้อยละ 70 เป็นโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ เนื่องจากปัจจุบันยังพบการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น โรคไข้หวัดนก โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงโรคติดต่อใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต   เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง พร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ตลอดเวลา คณะกรรมการฯ จึงร่างแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2560 - 2564) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 24 กลยุทธ์ 49 มาตรการ และ 230 แนวทางการดำเนินงาน ซึ่งมีหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด 33 หน่วยงาน เช่น ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภากาชาด และสาธารณสุข ร่วมขับเคลื่อนแผนดังกล่าวเพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดการป่วย การตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งได้มีการพิจารณาความสอดคล้องและจัดลำดับความสำคัญ สำหรับรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนระหว่างแผนระยะสั้นของรายการที่ปรากฏในแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ หรือโรคระบาด พ.ศ. 2559 – 2561 ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กับแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ (EID Package) โดยมีรายการดังนี้ 1.ห้องปฏิบัติการ 2.ห้องแยกสำหรับสังเกตอาการ/รอส่งต่อ ผู้เดินทางที่สงสัยป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ 3.ห้องแยกผู้ป่วยชนิดความดันลบ และ4.ครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการ โดยใช้งบประมาณ 396 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี

ส่วนรูปแบบการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ ได้แก่ ยา วัคซีน อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย และวัสดุอุปกรณ์ป้องกันควบคุมสัตว์พาหะ โดยผลิตภัณฑ์ที่ควรพัฒนาในอันดับแรก ได้แก่ ชุดป้องกันร่างกาย (PPE)  เพื่อป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง และนวัตกรรมป้องกันควบคุมยุง เช่น สมุนไพรไล่ยุงที่ออกฤทธิ์ในการไล่ยุงได้นาน มีความปลอดภัยกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวดำเนินการประสบผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้โมเดลนี้ จะมีการนำไปปรับใช้ในการพัฒนายาและวัคซีนในการรักษาและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคเมอร์สในอนาคตต่อไป 

************************** 18 สิงหาคม 2559

*********************************



   
   


View 10    18/08/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ