ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการกองการประกอบโรคศิลปะตรวจสอบมาตรฐานโรงพยาบาลกาญจนบุรี เมมโมเรียล หลังมีผู้ป่วยระหว่างบำบัดโรคมะเร็งในโรงพยาบาล ถูกงูเขียวหางไหม้กัดจนเสียชีวิต เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ด้านโฆษกกรมการแพทย์ ชี้ผู้ป่วยที่ถูกงูเขียวกัดที่กาญจนบุรี เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคประจำตัวคือมะเร็งตับระยะสุดท้าย ส่งผลให้พิษงูมีความรุนแรงมากกว่าปกติ เนื่องจากตับเสียบางส่วนทำให้เลือดออกง่าย
กรณีที่มีข่าว โวยโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังสุดชุ่ย ปล่อยงูเขียวกัดผู้ป่วยโรคมะเร็งดับ โดยนางพนิดา ปิ่นปลื้มจิตร พนักงานธนาคาร ธกส. สาขาพนมทวน จ.กาญจนบุรี ได้เข้าร้องเรียนผู้สื่อข่าวเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ออกมาตรวจสอบและให้ความเป็นธรรม เนื่องจากสามีชื่อนายวสันต์ ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ได้เข้ารักษาที่ ร.พ.กาญจนบุรีเมโมเรียลและถูกงูเขียวหางไหม้ฉกที่ข้อพับแขนขวา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550 และได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่ ร.พ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี เนื่องจากไม่มีเซรุ่มแก้พิษงู ซึ่งแพทย์ที่ ร.พ.พหลพลพยุหเสนาได้ตรวจรักษาอย่างเต็มที่แล้ว โดยฉีดเซรุ่มแก้พิษงูให้ 3 วัน หลังจากนั้นในวันที่ 4 กันยายน ผู้ป่วยอาเจียนออกมาเป็นเลือดทั้งทางปากและจมูกและเสียชีวิต ญาติจึงนำศพกลับบ้าน โดยไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมแต่อย่างใดนั้น
ความคืบหน้าดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ (6 กันยายน 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบมาตรฐาน ร.พ.กาญจนบุรีเมโมเรียล เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งผู้บริหารมีนโยบายให้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เน้นย้ำด้านความปลอดภัยผู้ป่วย โดยให้ดูแลความสะอาดของสถานที่ เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลได้รับความปลอดภัยทุกด้าน
ทางด้านนายแพทย์ชำนิ จิตตรีประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาและสนับสนุนเครือข่ายวิชาการ สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า งูเขียวหางไหม้ พิษจะมีผลต่อระบบเลือดทำให้เลือดไม่แข็งตัวและมีเกร็ดเลือดต่ำ งูชนิดนี้พบได้ทุกภาค และพบในกทม.มากกว่างูชนิดอื่นๆ หลังจากที่ถูกกัดผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะมีอาการพิษงูเข้าสู่กระแสเลือด กรณีผู้ป่วยรายที่ถูกงูเขียวหางไหม้กัดและเสียชีวิตรายนี้เป็นกรณีที่พบได้น้อย น่าจะเกิดจากผู้ป่วยมีภาวะโรคเดิมคือมะเร็งตับระยะสุดท้าย ซึ่งมีปัญหาเลือดออกง่ายอยู่แล้ว เมื่อถูกงูเขียวหางไหม้กัด จึงทำให้พิษกระจายได้และมีความรุนแรงเกินกว่าปกติ โดยปกติในคนปกติทั่วๆไป หากถูกงูเขียวหางไหม้กัดถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง และฉีดเซรุ่มได้ทัน จะไม่เสียชีวิต
ขอเตือนประชาชนทุกรายหากถูกงูกัด ไม่ว่าจะเป็นงูชนิดใดมีพิษหรือไม่มีพิษ ให้นำงูไปโรงพยาบาลด้วย หากจับงูไม่ได้ให้สังเกตว่ามีลักษณะอย่างใด เพื่อจะฉีดวัคซีนได้ตรงกับชนิดงู ไม่ต้องเสียเวลาตามหางู เบื้องต้นให้ช่วยกันปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัดก่อน โดยบีบเลือดที่แผลงูกัดออกให้มากที่สุด ใช้ล้างน้ำแผลให้สะอาด อย่าสัมผัสเลือดที่บีบออกมา ให้ใช้ผ้าหรือเชือกรัดเหนือแผล ส่วนเซรุ่มแก้พิษงูกัดของไทยมี 7 ชนิด คือ เซรุ่มแก้พิษงูที่มีพิษต่อระบบประสาท คืองูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูเห่า งูทับสมิงคลา และแก้พิษงูที่มีผลต่อระบบเลือดหรือการแข็งตัวของเลือด คืองูเขียวหางไหม้ งูกะปะ งูแมวเซา ขณะนี้กรมการแพทย์ได้วางแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดแล้ว และส่งให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ นายแพทย์ชำนิ กล่าว ************ 6 กันยายน 2550
View 7
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ