วันนี้ (16 มิถุนายน 2559) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายเรื่องแนวทางการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลเครือข่ายเขตสุขภาพในภาพรวมของประเทศ ในงานมหกรรมคุณภาพร่วมระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.ภูมิพลอดุลยเดช และรพ.เครือข่ายเขตสุขภาพที่ 6 และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ปฏิรูประบบบริการสุขภาพ แบ่งเป็น 12 เขตสุขภาพและกทม. แต่ละเขตรับผิดชอบดูแลประชากร 3 – 5 ล้านคน โดยให้แต่ละเขตดำเนินการตามแผนการพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ใน 13 สาขา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม ได้รับการดูแลรักษาใกล้บ้าน เบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดแออัด และลดเวลารอคอยการรักษา

            ในปี 2559 นี้ เขตสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ 20 คณะจาก 19 มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ใน 3 ด้านได้แก่ การบริการ การวิจัย การพัฒนาบุคลากร ตามร่างยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5–10 ปี) ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ เพิ่มการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ การผลิตแพทย์เฉพาะทาง การวิจัยในระดับสากลและองค์ความรู้ใหม่ 2.การสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพ ลดการส่งต่อนอกเขตสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาแพทย์เชี่ยวชาญและเฉพาะทาง และ3.การลดความเหลื่อมล้ำของสถานบริการ พัฒนาด้านพื้นฐานในเขตสุขภาพ และการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานต่างๆ โดยแต่ละเขตสุขภาพได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันดำเนินการและวางแผนพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน กำหนดสาขาที่จะพัฒนาความเป็นเลิศ การวางแผนพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการของแต่ละเขต เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาคัดเลือกโครงการ และเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ระดับประเทศพิจารณา ก่อนเสนอยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ พร้อมโครงการและแผนงานรองรับคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนกันยายน 2559

            ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 6 มีความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.บูรพา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ขณะนี้ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานร่วมกันพัฒนา 8 เรื่อง คือ 1.ระบบส่งต่อ ใช้โปรแกรม Thai refer เชื่อมต่อข้อมูลการส่งต่อของโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 6 และจะจัดตั้งศูนย์ประสานการส่งต่อ 24 ชั่วโมง ที่รพ.ม.บูรพา รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และรพ.จุฬาลงกรณ์ 2.ศูนย์หัวใจ จัดหลักสูตรการอบรมพยาบาลเฉพาะทาง การผลิตบุคลากรห้องศูนย์หัวใจ การผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ การจัดตั้งศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ในการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดและผ่าตัด 3.ศูนย์อุบัติเหตุ พัฒนาช่องทางด่วนดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บหลอดเลือด (Vascular injury Fast-track system) 4.ศูนย์มะเร็ง พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 6 โดยเฉพาะการฉายแสงและการผ่าตัดที่ซับซ้อน และจะร่วมกันวิจัยปัญหาด้านมะเร็งในพื้นที่ เช่น การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

            5.ศูนย์ทารกแรกเกิด พัฒนาระบบการส่งต่อทารกแรกเกิดวิกฤตที่มีภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดต้องรับการผ่าตัดหัวใจ 6.ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ พัฒนาศูนย์บริจาคอวัยวะของเขต ทีมผ่าตัดอวัยวะออก พยาบาลประสานงาน ระบบเทคโนโลยี และปรับปรุงระบบการเงิน 7.การฝึกอบรมและการเรียนการสอน โดยเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์กับคณะแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้รพ.ชุมชน รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์  เป็นสถานที่ฝึกในระดับคลินิก เพื่อให้แพทย์เข้าใจการทำงานในชุมชนชนบท รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลรักษาโรคที่ซับซ้อนมาตรฐานเดียวกับรพ.ในส่วนกลางและ8.งานวิจัยเพื่อพัฒนาบริการของเขตสุขภาพ  

*************************16 มิ.ย.59

                        

    

   

 



   
   


View 21    16/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ