รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความคืบหน้านโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” 4 เรื่อง ได้แก่ รายการราคากลางค่ารักษาพยาบาล (Fee schedule) การชี้แจงโรงพยาบาลเอกชนให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ และเข้าร่วมระบบสำรองเตียง การหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องอำนาจในการออกประกาศของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  และการวางระบบงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเตรียมความพร้อม ทั้งในระบบสำรองเตียงระบบบริการ  (Customer Service )

วันนี้ (15 มิถุนายน 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 9/2559 ติดตามความคืบหน้า นโยบาย  “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ที่มอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติดำเนินการใน 4 เรื่อง โดยได้รายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุมดังนี้  เรื่องที่ 1.รายการราคากลางค่ารักษาพยาบาล (Fee schedule) ทั้ง 3 กองทุน โรงพยาบาลเอกชนรับทราบ ยังคงต้องหารือกับโรงพยาบาลในสังกัดโรงเรียนแพทย์ (U hos net) ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมในทุกสังกัด
 
 2.การชี้แจงโรงพยาบาลเอกชนที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ 13 แห่ง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ประชุมชี้แจงสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เมื่อ 13 มิถุนายน 2559 ทั้งหมดรับทราบนโยบาย และจะนัดประชุมอีกครั้ง เพื่อชี้แจงพร้อมรวบรวมรายชื่อโรงพยาบาลที่ยินดีเข้าร่วมโครงการฯ ตามนโยบายและเข้าร่วมระบบสำรองเตียงในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน   3.การหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องอำนาจในการออกประกาศของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติคือ ประกาศกำหนดเรื่อง ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ประกาศกำหนดราคากลางค่ารักษาพยาบาล และประกาศเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการและสถานพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยได้ปรึกษาหารือเบื้องต้น และทำหนังสือหารืออย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อ 7 มิถุนายน 2559 
 
และ 4.การวางระบบงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อม ทั้งในระบบสำรองเตียงระบบบริการ  (Customer Service) โดยในเรื่องการจัดระบบสำรองเตียงนั้น มีหลักการดังนี้ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง รับข้าราชการ ลูกจ้างในสังกัดของกระทรวงตนเองและครอบครัว รวมทั้งรับผู้ป่วยในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประกันสังคมที่โรงพยาบาลเป็นคู่สัญญา โควตาการสำรองเตียงทั้งเตียงสามัญ เตียงไอซียูของโรงพยาบาลที่เหมาะสม  และโรงพยาบาลทุกแห่งกำหนดบุคคลเพื่อทำหน้าที่ประสานงานหลัก โดยจะประชุมติดตามอีกครั้งในวันที่ 17 มิถุนายน 2559
ส่วนระบบบริการ  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  ได้เริ่มดำเนินการเรื่อง EMCO Service Center ที่มีผู้รับบริการ 4 ส่วนคือ โรงพยาบาลเอกชน กองทุน ศูนย์ 1669 ของจังหวัด และภาคประชาชน มีช่องทางการติดต่อ 3 สาย คือ เบอร์โทรหลัก 02-872-1669 กดต่อ 0 เบอร์โทรตรงสายสำรอง 02-872-1610-19 และการโทรผ่าน Private Net, VOIP GIN 
 
************************** 15 มิถุนายน 2559


   
   


View 23    15/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ