คณะกรรมการอำนวยการเห็นชอบ 4 ยุทธศาสตร์ในร่างแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ..2560-2564 ใช้สมุนไพรสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ตั้งเป้าหมายปี 2564 จะส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน เพิ่มมูลค่าการจำหน่ายภายในประเทศอย่างน้อย 1เท่าตัว เร่งปรับปรุงร่างฯ ให้สมบูรณ์ เพื่อเสนอครม.

 

วันนี้ (22 เมษายน 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการอำนวยการยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ..2560-2564  ครั้งที่1/2559 และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้พัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินการยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ..2560-2564 และคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อยกร่างกำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายแผนงานตัวชี้วัด โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สาธารณสุข เกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ ท่องเที่ยวและกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ศึกษาธิการ มหาดไทย การคลัง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมไทย สมาคมผู้ผลิตสมุนไพรไทย สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย  นักวิชาการอิสระ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

 

ในวันนี้ คณะกรรมการอำนวยการได้พิจารณาและให้ความเห็นต่อร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฯ ตามที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯ เสนอ โดยตั้งเป้าหมายเมื่อสิ้นแผนในปี 2564 ไทยจะส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน มูลค่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว โดยให้กำหนดเป้าหมายและผู้รับผิดชอบที่จะเห็นผลในระยะ 1 ปี และนำร่างแผนแม่บทฯ ไปรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอคณะกรรมการอำนวยการฯ อีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อนำร่างฉบับสมบูรณ์ เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 

ด้านนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ร่างแผนแม่บทดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่1.ส่งเสริมผลผลิตของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการในระดับอุตสาหกรรม  สมุนไพรได้รับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 2.พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล ให้ยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสามารถแข่งขันในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ 3.ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศ และ4.สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายของรัฐเพื่อการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน มีกลไกในการพัฒนาสมุนไพรที่มีศักยภาพสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

   ******************************************* 22 เมษายน 2559

 

 

 

 

 

 

 

 

 

************************



   
   


View 10    22/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ