กระทรวงสาธารณสุข สร้างต้นแบบ “เตียง 5 สี” แก้ปัญหาเตียงไม่พอ เพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยวิกฤต ลดส่งต่อไปเอกชน ลดค่าใช่จ่ายรัฐ ที่ผ่านมาลดจาก 4.5 ล้าน เหลือ 1 แสน แยกผู้ป่วยที่พ้นวิกฤต 5 กลุ่มโรคให้โรงพยาบาลชุมชนร่วมดูแล โดยโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้นแบบ และเตรียมขยายสู่โรงพยาบาลอื่นๆ
 
     ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 1 ว่า ปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ เป็นปัญหาสำคัญที่พบในโรงพยาบาลเขตสุขภาพที่ 1 เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องได้รับการดูแลในห้องไอซียูจำนวนมาก โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน มีเตียงรับผู้ป่วยได้เพียง 600 เตียง ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยที่เข้ามารักษา ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเอกชน ทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายกับรัฐมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิด “โครงการเตียง 5 สี” เป็นต้นแบบเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยวิกฤติ ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอกชน และให้โรงพยาบาลชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยแยกประเภทผู้ป่วยตามเตียง 5 สี ได้แก่ 1.สีแดง คือ ผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องการการดูแลมากตลอดเวลาและใช้เครื่องช่วยหายใจ 2.สีชมพู คือ ผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องการการดูแลมาก 3.สีเหลือง คือ  ผู้ป่วยกึ่งวิกฤติต้องการการดูแลมาก 4.สีเขียว คือ ผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลปานกลาง และ 5.สีขาว คือ ผู้ป่วยพักฟื้นต้องการการดูแลน้อย ซึ่งทีมแพทย์จะแยกตามภาวะวิกฤตของสัญญาณชีพ หากผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์วิกฤต (สีแดง) จะส่งต่อให้โรงพยาบาลชุมชนดูแลต่อ เพื่อลดการครองเตียงและการส่งต่อผู้ป่วยไปเอกชน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่พ้นวิกฤตจะมีอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด กลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้น กลุ่มผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร และกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย
 
     นายแพทย์ธำรง  หาญวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้จัดระบบการดำเนินงาน มีศูนย์ประสานงานการส่งต่อ และดำเนินการส่งต่อผู้ป่วย สื่อสารระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วยหรือญาติ พร้อมดูแลระบบสารสนเทศและการรายงานข้อมูล ซึ่งพยาบาลทุกคนจะบันทึกข้อมูลผู้ป่วยจำแนกตามสีเตียงทุกวัน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านในช่วงไม่กี่เดือน สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเมื่อส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเอกชนได้มาก อัตราปฏิเสธส่งต่อเป็นศูนย์ เช่น ในปี 2558 เดือนตุลาคม ต้องส่งต่อผู้ป่วย 31 ราย มีค่าใช้จ่ายกว่า 4.5 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายน ส่งต่อผู้ป่วยเหลือ 8 ราย มีค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท เดือนธันวาคม ส่งต่อผู้ป่วยเหลือ 3 ราย มีค่าใช้จ่าย 2 แสนบาท และเดือนมกราคม ปี 2559 ส่งต่อผู้ป่วยเหลือเพียง 2 ราย ค่าใช้จ่ายลดเหลือ 1 แสนบาท จะเห็นว่าการส่งต่อผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายลดลงอย่างสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ โรงพยาบาลนครพิงค์จะเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ แก่โรงพยาบาลอื่นในการส่งต่อผู้ป่วย เช่น โรงพยาบาลฝาง โรงพยาบาลจอมทอง พร้อมเตรียมขยายการดำเนินงานที่ได้ผลดีนี้ สู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและลำพูน
 
**************************** 3 เมษายน 2559
 
 


   
   


View 22    03/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ