ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ ชวนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ  ล้างส้วมในโรงพยาบาลพร้อมกันทั่วประเทศ ดีเดย์บ่ายวันที่ 1 เมษายน 2559 พร้อมกำชับให้สถานบริการในสังกัดทุกแห่ง คงมาตรการ 3 เก็บบวก 5 ส.ต่อเนื่อง ค่าลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาลต้องเป็นศูนย์ และไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อไข้เลือดออก

 
วันนี้ (24 มีนาคม 2559) นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย    นายแพทย์ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ กำชับให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 3 ข้อคือ คุณภาพ (Q : Quality) การบริการ (S : Service) ความสะอาด (C : Clean) 
 
 
โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด  โรงพยาบาลทุกแห่งต้องเป็นตัวอย่าง ขอให้ดำเนินการมาตรการ 5 ส. อย่างเข้มข้นและทำอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่ายๆ คือ ส้วมในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในตึกผู้ป่วยนอกที่มีประชาชน ผู้ป่วย ญาติมาใช้บริการในแต่ละวันจำนวนมาก ต้องสะอาดและเพียงพอต่อการใช้งาน เน้น 3 จุดอันตรายในห้องส้วม จากการสำรวจส้วมสาธารณะของกรมอนามัย  ที่พบการปนเปื้อนอุจจาระคือ ที่จับสายฉีดน้ำชำระ พบเชื้อโรคมากที่สุดร้อยละ 85.3  บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50   ที่รองนั่งโถส้วม (แบบนั่งราบ) พบร้อยละ 31  จึงขอเชิญชวนให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ร่วมล้างส้วมในช่วงบ่ายวันที่ 1 เมษายน 2559  เป็นจุดเริ่มต้นและขอให้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยในส่วนกลางตนจะร่วมรณรงค์ล้างส้วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี  ส่วนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะร่วมรณรงค์ล้างส้วมรับสงกรานต์ ที่ สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ ในวันที่ 31 มีนาคม 2559 
 
ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้ดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง  ด้วยมาตรการ 3 เก็บบวก 5 ส. ต่อเนื่อง ในสถานบริการทุกแห่ง  โดยเฉพาะในโรงพยาบาลค่าลูกน้ำยุงลายต้องเป็นศูนย์ จากผลการสุ่มสำรวจโรงพยาบาล 170 แห่ง ยังพบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลายประมาณ ร้อยละ 12.35 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่พบสูงถึงร้อยละ 21.95 ส่วนในบ้านพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่สุ่มสำรวจ 66 แห่ง พบลูกน้ำยุงลายร้อยละ 1.31 ลดลงจากร้อยละ 2.6 ในเดือนมกราคม  ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นศูนย์ทั้งหมด  เพราะบ้านพักอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งยุงบินไกลได้มากกว่า 100 เมตร ส่วนโรงพยาบาลเป็นสถานที่รักษาผู้ป่วย หากพบลูกน้ำยุงลาย จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไข้เลือดออก ขอให้เข้มงวดทั้งในบ้านพัก รอบตัวอาคาร และในตัวอาคารโรงพยาบาล 
 *********************************** 24 มีนาคม 2559


   
   


View 23    24/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ