กระทรวงสาธารณสุข ตั้งหน่วยสู้รบกับเชื้อมาลาเรียในชุมชนหมู่บ้าน 30 จังหวัดชายแดน 800 แห่ง พบอัตราการติดเชื้อมาลาเรียในกลุ่มพม่าสูงเกือบร้อยละ 8 เผยสถานการณ์โรคมาลาเรียรอบ 7 เดือนปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 18,000 ราย เสียชีวิต 32 ราย ในจำนวนนี้เป็นแรงงานพม่า 2,995 ราย เสียชีวิต 12 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ ได้แก่ ยะลา พบ 3,873 ราย รองลงมาคือ สงขลา 2,851 ราย ระนอง 2,149 ราย เช้าวันนี้ (23 สิงหาคม 2550) ที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของพนักงานมาลาเรียชุมชน ที่ศูนย์มาลาเรียชุมชนบ้านห้วยปลากอง และหน่วยมาลาเรียเคลื่อนที่ ของหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 8 แม่ระมาด ซึ่งบริการตรวจหาเชื้อมาลาเรียด้วยชุดทดสอบภาคสนามและกล้องจุลทรรศน์ ชุบมุ้งด้วยน้ำยาไพรีทรอยด์ ทำให้ยุงก้นปล่องซึ่งเป็นตัวแพร่โรคมาลาเรียมาสู่คนที่มาเกาะที่มุ้ง เป็นอัมพาตและตายใน 2-3 วินาที พร้อมทั้งปล่อยปลาหางนกยูงในแหล่งน้ำบริเวณศูนย์ เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่อง ลดปริมาณยุงก้นปล่อง นายแพทย์มรกต กล่าวว่า ขณะนี้โรคมาลาเรียยังเป็นปัญหาสาธารณสุขหลัก ของพื้นที่ป่าเขาตามแนวชายแดน 30 จังหวัด มากที่สุดที่ชายแดนไทย-พม่า มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ เนื่องจากมีแรงงานต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก ในปี 2549 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยมาลาเรีย 30,338 ราย เสียชีวิต 113 ราย ในรอบ 7 เดือนปี 2550 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 18,983 ราย เสียชีวิต 32 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนไทย โดยพบชาวพม่าป่วย 2,995 ราย เสียชีวิต 12 รายและกัมพูชาป่วย 141 ราย จังหวัดที่ผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ ยะลา 3,873 ราย สงขลา 2,851 ราย ระนอง 2,149 ราย กาญจนบุรี 1,217 ราย แม่ฮ่องสอน 1,203 ราย นราธิวาส 941 ราย ตาก 921 ราย ชุมพร 879 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 866 ราย และสุราษฎร์ธานี 448 ราย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น อาจทำให้โรคมาลาเรียมีการระบาดและรุนแรงขึ้น เนื่องจากไข่ยุงจะกลายเป็นตัวยุงเร็วขึ้น ขณะนี้ประชากรโลกร้อยละ 36 ในกว่า 90 ประเทศ อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย การควบคุมแหล่งยุงเป็นไปได้ยาก เพราะแหล่งยุงอยู่ในป่าเขา ยุงวางไข่ตามลำธาร แต่ยังป้องกันได้ โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำประชาชน ให้นอนในมุ้งป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด และเมื่อเจ็บป่วย ต้องรีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า สำหรับการต่อสู้กับปัญหามาลาเรียในพื้นที่ 30 จังหวัดที่มีการระบาด กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้นโยบายบริการเชิงรุก โดยตั้งศูนย์มาลาเรียหรือมาลาเรียคลินิก ตรวจเชื้อและรักษาฟรีผู้ป่วยในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ จำนวน 800 แห่ง ในพื้นที่ 30 จังหวัดตามแนวชายแดน ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เน้นรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนแหล่งแพร่เชื้อให้มากที่สุด บริการทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนโลกจำนวน 200 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 500 แห่ง ในปีนี้ตั้งเพิ่มอีก 300 แห่ง รวมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยที่จังหวัดตาก ดำเนินการใน 5 อำเภอ ได้แก่ อุ้มผาง พบพระ แม่สอด แม่ระมาด และท่าสองยาง การดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลดีมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นพม่า ในปี 2549 ได้เจาะเลือดตรวจทั้งหมด 483,628 ราย พบเชื้อมาลาเรีย 36,313 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 เชื้อที่พบร้อยละ 70 เป็นชนิด พลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม ซึ่งมีความรุนแรงที่สุด เชื้อสามารถขึ้นสมองทำให้เสียชีวิตได้ โดยทั่วไปหากเป็นโรคแล้ว และรักษาไม่หายขาด ก็จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อมาลาเรียได้นานถึง 1-2 ปี ด้านนายแพทย์ปัจจุบัน เหมหงษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากเป็นพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียระบาดสูงสุดของประเทศในปี 2548 - 2549 พบปีละประมาณ 5,000-9,000 ราย ในปีนี้ ตั้งแต่มกราคม - กรกฎาคม พบผู้ป่วยแล้ว 921 ราย ประมาณร้อยละ 90 เป็นเชื้อชนิดพลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม การตรวจหาเชื้อมาลาเรียของศูนย์มาลาเรียชุมชน จะใช้ชุดทดสอบภาคสนาม (Paracheck) ซึ่งตรวจหาเชื้อมาลาเรียชนิดนี้โดยเฉพาะ รู้ผลเร็วภายใน 15 นาที พนักงานมาลาเรียสามารถให้ยารักษาได้ทันที ช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมาก ซึ่งปีนี้ยังไม่พบการเสียชีวิต ส่วนเชื้อมาลาเรียชนิดอื่น พนักงานมาลาเรียจะเก็บตัวอย่างเลือดส่งไปตรวจหาเชื้อที่หน่วยมาลาเรีย หากพบเชื้อจะติดตามผู้ป่วยมารับยาต่อไป สำหรับอำเภอแม่ระมาด มีศูนย์มาลาเรียทั้งหมด 15 แห่ง แยกเป็น ตำบลขะเนจื้อ 4 แห่ง ตำบลสามหมื่น 2 แห่ง และตำบลแม่ตื่น 9 แห่ง มีพนักงานมาลาเรีย 18 คน ในปี 2549 ให้บริการตรวจหาเชื้อมาลาเรียแก่ผู้ป่วยทั้งหมด 2,377 ราย พบเชื้อ 249 ราย ส่วนปี 2550 ตั้งแต่มกราคม - ปัจจุบัน ตรวจหาเชื้อมาลาเรียไปแล้ว 1,579 ราย พบเชื้อ 181 ราย ****************************** 23 สิงหาคม 2550


   
   


View 17    23/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ