กระทรวงสาธารณสุข มอบวิทยุสื่อสารเกือบ 500 เครื่อง มูลค่ากว่า 6.3 ล้านบาท ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มช่องทางการสื่อสาร สร้างความคล่องตัวในการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงานในชุมชน หมู่บ้าน กับสถานบริการ ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน
เช้าวันนี้ (23 สิงหาคม 2550) ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข มอบวิทยุสื่อสารพกพา จำนวน 475 เครื่อง มูลค่า 3.6 ล้านบาท พร้อมเครื่องทบทวนสัญญาณประจำพื้นที่ 6 ชุด มูลค่า 2.7 ล้านบาท มูลค่ารวม 6.3 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสาร เสริมระบบสื่อสารปกติ โดยมอบให้จังหวัดสงขลา 71 เครื่อง ปัตตานี 151 เครื่อง ยะลา 96 เครื่อง นราธิวาส 138 เครื่อง ส่วนเครื่องทบทวนสัญญาณติดตั้งที่จังหวัดสงขลา 1 เครื่อง ยะลา 2 เครื่อง ปัตตานี 1 เครื่อง และนราธิวาส 2 เครื่อง
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่มกราคม 2547จนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 6,657 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4,119 ราย เสียชีวิต 2,291 ราย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน มีสถานีอนามัยถูกเผา วางเพลิง และวางระเบิด 12 แห่ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ 21 ราย เสียชีวิต 12 ราย ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขบาดเจ็บ 9 ราย เสียชีวิต 29 ราย ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ และการจัดบริการสาธารณสุขในชุมชน โดยเฉพาะงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการป้องกันโรค อาทิ การชั่งน้ำหนักติดตามภาวะโภชนาการในเด็ก ฉีดวัคซีน งานอนามัยโรงเรียน ซึ่งเป็นงานที่ต้องออกไปให้บริการในหมู่บ้าน หรือตามโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ในการจัดระบบบริการประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนยึดแนวปฏิบัติคือ บริการดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด และเสริมสร้างความมั่นใจเจ้าหน้าที่ขณะออกปฏิบัติงานในหมู่บ้าน โดยจัดหาวิทยุสื่อสารให้เจ้าหน้าที่พกพา ซึ่งในบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะเอื้อให้เจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงานในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ในสถานบริการ สามารถแก้ไขปัญหาสาธารณสุขร่วมกันได้ตลอดเวลา ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยวิทยุสื่อสารนี้สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ในรัศมี 20-30 กิโลเมตร โดยสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์นเรนทร) สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อทั้งหมด
ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเสริมบริการประชาชนในพื้นที่ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ประจำโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 5 จังหวัด จำนวน 37 แห่ง มีแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแล จนถึงขณะนี้ได้ติดตามเยี่ยมเยียนดูแลจิตใจครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบร้อยละ 85 อบรม อสม.ให้เป็นแกนหลักในการทำงานด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเชิงรุก เข้าถึงชุมชน หมู่บ้าน และอบรมเรื่องการเยียวยาสุขภาพจิตแล้ว 148 คน จะเพิ่มให้ได้ 8,769 คนในเดือนตุลาคม 2550 สำหรับวิทยุสื่อสารและเครื่องทบทวนสัญญาณที่ได้นี้ จะทำให้ระบบการประสานงานระหว่างตำบล อำเภอ และจังหวัดมีความคล่องตัว ส่วนเครื่องทบทวนสัญญาณจะช่วยเสริมระบบการส่งต่อใน 5 จังหวัด ได้ดีมากยิ่งขึ้น เป็นช่องทางเสริมอีกทางหนึ่ง
********* 23 สิงหาคม 2550
View 14
23/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ