กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ เด็กไทยวัยต่ำกว่า 15 เสียชีวิตจากการจมน้ำมากเป็นอันดับ 1 พบปีละ 1,500 คนเฉลี่ยวันละ 4 คน สถิติสูงกว่าจราจร 2 เท่าตัว และสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว 5-15 เท่าตัว พบช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนมากที่สุด เร่งระดมสมองหามาตรการแก้ไขช่วยเหลือ ผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายระดับประเทศ
เช้าวันนี้ (22 สิงหาคม 2550) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง เด็กจมน้ำ มหันตภัยเงียบ จัดโดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เพื่อสร้างความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ประชาชน หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้รับรู้ปัญหาการจมน้ำของเด็ก เพื่อระดมสมองร่วมมือป้องกันแก้ไข โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่างๆอาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชนผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนทุกสาขาประมาณ 120 คน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กทั่วโลกอายุต่ำกว่า 15 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิต ร้อยละ 57 โดยพบที่สหรัฐอเมริการ้อยละ 23 ที่ออสเตรเลียร้อยละ 18 แต่ละปีทั่วโลกมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ 230,000 คน ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 ว่ายน้ำไม่เป็น พบมากที่สุดในเด็กอายุ 1 ปี สำหรับประเทศไทยพบการจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตถึงร้อยละ 35 ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของอุบัติเหตุจราจร โดยเสียชีวิตปีละ 1,500 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอด
ทั้งนี้เด็กอายุ 1-4 ปี พบจมน้ำสูงในภาชนะกักเก็บน้ำ เช่นถังน้ำ อ่างน้ำ กาละมัง มีระดับน้ำตื้นๆเพียง 1-2 นิ้วก็ตาม เนื่องจากเด็กไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างไม่คลาดสายตา ขณะที่เด็กอายุ 5-17 ปี พบจมน้ำมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คู คลอง แม่น้ำ ทะเล เนื่องจากผู้ปกครองคิดว่าไม่มีอันตราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีสูงสุด รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ เพศชายเสียชีวิตมากกว่าหญิง 2-5 เท่า และพบช่วงปิดภาคเรียนในฤดูร้อน เป็นช่วงที่เด็กจมน้ำมากที่สุด จึงต้องเร่งหาทางป้องกันแก้ไขอย่างจริงจัง
ทางด้านนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช หัวหน้ากลุ่มป้องกันการบาดเจ็บ สำนักโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า การจมน้ำมีอัตราตายที่สูงประมาณร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติทั่วโลก พบว่า อัตราตายของเด็กไทยจากการจมน้ำของเด็กไทยสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 5-15 เท่าตัว แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่รองรับปัญหาปลายเหตุซึ่งเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปแล้ว การแก้ไข ป้องกันความสูญเสียที่ได้ผลที่สุดจะต้องเน้นที่การป้องกัน หลายๆด้านไปด้วยกัน เพื่อกำหนดเป็นแนวทาง มาตรการ และข้อเสนอเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศในการจัดระบบความปลอดภัยให้เด็ก คล้ายๆกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร
ทั้งนี้มีข้อมูลว่าในต่างประเทศ เช่นออสเตรเลีย หลังจากที่มีการตั้งองค์กรความปลอดภัยทางน้ำและมีการวางแผนความปลอดภัยทางน้ำแล้ว ในช่วงปี2547 พบว่าการจมน้ำในเด็กเล็กมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 40 อัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงหลังจากที่มีการบรรจุโปแกรมการเรียนคามปลอดภัยทางน้ำ การสอนว่ายน้ำ นายแพทย์แท้จริงกล่าว
************************** 22 สิงหาคม 2550
View 13
22/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ