รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามปัญหาสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก พบแรงงานพม่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพลดลงเกือบครึ่ง ขณะที่โรงพยาบาลแม่สอดต้องแบกภาระรักษาฟรีปีละกว่า 40 ล้านบาท คาดในปีนี้ยอดอาจพุ่งถึง 50 ล้านบาท เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องให้แรงงานต่างชาติเข้าระบบประกันสุขภาพมากขึ้น และให้จังหวัดจับตาโรคติดต่อต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยา
นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อเช้าวันนี้ (21 สิงหาคม 2550) ว่า พื้นที่ที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หรือพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติเข้ามาอาศัย ต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังโรคควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะนำโรคติดต่อต่างๆ เข้ามาระบาดในประเทศได้ง่าย เนื่องจากแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ มักจะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย อยู่กันอย่างแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ เมื่อเจ็บป่วยมักจะไม่กล้าไปรักษาตัว ทำให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดโรคถึงคนไทยที่อยู่ในละแวกนั้นได้ แม้ว่าจะมีการควบคุมโรคเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ที่น่าห่วงมาก อาทิ มาลาเรีย วัณโรค โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีรายงานหลายพื้นที่ว่าพบโรคดังกล่าวมากขึ้น และเชื้อรุนแรงกว่าเดิม โดยเฉพาะวัณโรคขณะนี้เริ่มมีรายงานการดื้อยามากขึ้น ทำให้ต้องรักษานานและอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า แรงงานต่างชาติเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วยมารักษา ส่วนใหญ่จะไม่มีเงินแต่เราต้องให้การรักษาเหมือนกับคนไทยตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งนอกจากเพิ่มภาระงานแล้ว ยังเป็นภาระด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาลค่อนข้างมาก โดยขณะนี้โรงพยาบาลแม่สอด มีผู้ป่วยนอกมารักษาวันละ 1,063 ราย ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติวันละประมาณ 200 ราย และต้องรับตัวไว้รักษาวันละ 10-20 ราย เนื่องจากมีอาการรุนแรง ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงหรือเพิ่มขนาดมากขึ้นเพื่อรักษา และต้องนอนนานกว่าปกติถึง 10-15 วัน ในปี 2549 ให้การรักษาฟรีแก่แรงงานต่างชาติถึง 44 ล้านบาท ส่วนปี 2550 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม ให้การรักษาฟรีไปแล้ว 28 ล้านบาท คาดปีนี้อาจสูงถึง 50 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งประสานงานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานฯ ผลักดันให้แรงงานต่างชาติเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพให้มากที่สุด เพื่อไห้ได้รับการรักษา ป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเจ็บป่วยจะได้มีกองทุนเข้ามารองรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลต่างๆ
ด้านนายแพทย์ปัจจุบัน เหมหงษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากมีแนวชายแดนติดกับประเทศพม่า 560 กิโลเมตร จึงมีแรงงานชาวพม่าเข้ามาอาศัย ทำงานรับจ้าง เดินทางเข้าออกชายแดนจำนวนมากวันละกว่า 500 คน แต่จำนวนแรงงานต่างชาติที่มาตรวจสุขภาพและเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 54,336 ราย ในปี 2547 เหลือ 23,300 ราย ในปี 2550 ในจำนวนนี้พบโรคที่ต้องติดตามรักษา 840 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่วัณโรคปอด 680 ราย รองลงมาคือซิฟิลิส 157 ราย มาลาเรีย 2 ราย เท้าช้าง 1 ราย โดยพบวัณโรคระยะแพร่เชื้อที่ต้องห้ามไม่ให้ทำงาน 2 ราย ได้ส่งตัวกลับประเทศไป สำหรับปัญหาวัณโรคดื้อยา ในปี 2550 พบผู้ป่วยทั้งหมด 19 ราย เป็นคนไทย 6 ราย และพม่า 13 ราย สามารถติดตามรักษาได้ 13 ราย ส่วนอีก 6 รายที่ไม่สามารถติดตามได้ เนื่องจากเป็นชาวพม่า เดินทางเข้าๆ ออก ทั้งนี้อัตราการรักษาวัณโรคหายขาดในคนไทยเท่ากับร้อยละ 80 ส่วนในคนต่างชาติ ร้อยละ 70
***************************** 21 สิงหาคม 2550
View 17
21/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ