กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มกำลังคนด้านระบาดวิทยาให้ทุกจังหวัดมีแพทย์ระบาดวิทยาภาคสนามสอบสวนโรคติดต่ออันตรายจังหวัดละ 1-4 คน ตรวจจับสัญญาณการระบาดของโรคติดต่อ ทั้งโรคเดิมที่มีในประเทศ และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 21 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการแก้ไขปัญหากำลังคนด้านระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรค โดยตั้งเป้าจะผลิตและรักษาแพทย์ระบาดวิทยาไว้ในระบบให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานบริการประชาชน ตามเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 1 ต่อ 2 แสนประชากร เป็นการสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นระบบการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในประเทศ โดยกำลังคนที่ควรมีในระบบคือ 335 คน  ขณะนี้มีกำลังคนอยู่แล้วในกระทรวงสาธารณสุข 83 คน ต้องเร่งผลิตเพิ่มให้ครบ 
 
กระทรวงสาธารณสุขมีหลักสูตรผลิตนักระบาดวิทยาที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลักสูตรระดับเชี่ยวชาญ ระดับกลางและระดับต้น โดยมีนักระบาดวิทยาระดับเชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 170 คน เป็นนักระบาดวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านภาคสนามในระดับประเทศ 10 คน เป็นนายแพทย์ด้านการควบคุมป้องกันโรค 135 คน และนักวิชาการสาธารณสุขที่ฝึกอบรมเพื่อทำงานด้านระบาดวิทยา 1,214 คน ที่ขาดแคลนต้องการผลิตและให้คงอยู่ในระบบ คือ นักระบาดวิทยาระดับเชี่ยวชาญระดับประเทศ เนื่องจากแพทย์ศึกษาต่อด้านระบาดวิทยามีค่อนข้างน้อยเฉลี่ย 20- 30 คนต่อปี 
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอธิบดีกรมควบคุมโรค หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มอัตรากำลัง และได้เร่งรัดดำเนินการในส่วนที่กระทรวงฯ ทำได้ เช่น การเพิ่มค่าตอบแทน การเกลี่ยอัตรากำลัง  ให้ดำเนินการได้ทันที  เบื้องต้นตั้งเป้าให้มีนักระบาดวิทยาภาคสนามระดับเชี่ยวชาญประมาณ 200 คน ประจำในทุกจังหวัดๆ ละ 1-4 คน และในส่วนกลางอีก 50 คน เพื่อทำหน้าที่ออกสอบสวนโรคติดต่ออันตราย  
 
ทั้งนี้ นักระบาดวิทยามีหน้าที่ เฝ้าระวังสัญญาณการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทั้งในและต่างประเทศ ทั้งโรคเดิมที่มีในประเทศ และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 21 นำมาวางแผนการป้องกัน สอบสวนควบคุมโรค หากมีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น เพื่อจำกัดไม่ให้โรคแพร่ระบาดในวงกว้าง ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบผลสำเร็จหลายเรื่องในการควบคุมโรค เช่น โรคซาร์ส  โรคไข้หวัดนก โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา  โรคเมอร์ส  เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

  ********************** 4 ธันวาคม 2558
 


   
   


View 19    04/12/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ