โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยปัจจุบันวงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับและส่งเสริมให้ทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอด เพราะมีผลดี ทำให้เด็กดูดนมแม่อย่างถูกต้องสูงถึงร้อยละ 60 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลูกแข็งแรง และเป็นการเริ่มแรกของการสานใยรักแห่งครอบครัว นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการสาธารณสุข 9 กรมอนามัยให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 12 สิงหาคม 2550 ที่จะถึงนี้ เป็นวันแม่แห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างใยรักในครอบครัว ความผูกพันระหว่างแม่ลูก กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีที่สุดในการเลี้ยงเด็กทารกและสร้างความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์หรือที่เรียกว่าไอคิว อีคิว ทำให้เด็กมีสุขภาพดี มีพัฒนาการดี จากผลสำรวจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยล่าสุดในพ.ศ. 2549 พบว่ามีเด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือนประมาณร้อยละ 8 เท่านั้น ที่กินนมแม่อย่างเดียว และมีเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น จึงต้องเร่งเพิ่มข้อมูลความรู้ให้ประชาชน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และคลอดบุตรซึ่งมีปีละประมาณ 800,000 คน ได้มีความเข้าใจถึงประโยชน์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น ตั้งเป้าจะเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 25 ในปีนี้ นายสง่ากล่าวว่า ในการที่จะทำให้การเลี้ยงนมแม่ของไทยประสบผลสำเร็จ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้แม่ลูกอยู่ด้วยกันทันทีหลังคลอด โดยมีข้อมูลวิจัยจำนวนมากยืนยันตรงกันว่า การนำลูกมาให้แม่ได้สัมผัสโดยการโอบกอดและให้ลูกได้ดูดนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด จะมีผลดีต่อลูกและแม่มาก เนื่องจากสัมผัสแรกที่แม่ได้โอบกอดลูกในอ้อมอก จะกระตุ้นให้ร่างกายแม่มีการหลั่งหลังฮอร์โมนแห่งความรัก หรือออกซี่โตซิน ( Oxytocin) ออกมาเร็วขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีความรู้สึกของความเป็นแม่ที่มีความรักลูก ห่วงหาอาทร อยากดูแลลูกไม่อยากทิ้งลูก พฤติกรรมของความเป็นแม่จึงเกิดขึ้นภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดนี่เอง สัมผัสแรกของแม่ยังช่วยทำให้ลูกได้รับไออุ่นจากแม่ ลูกไม่หนาว ลูกสงบ การหายใจและการเต้นของหัวใจเป็นไปอย่างปกติสม่ำเสมอ นายสง่า กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญสุดๆการเปิดโอกาสให้ลูกได้ดูดนมแม่ในชั่วโมงแรกหลังคลอดนั้น จุดประสงค์หลักไม่ได้ต้องการให้ลูกได้กินนมแม่ทันที เพราะน้ำนมจะยังไม่มี แต่เป็นการกระตุ้นให้แม่หลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) เพื่อสร้างน้ำนมและให้น้ำนมมาเร็วขึ้น ตลอดจนเป็นจุดเริ่มต้นที่พ่อแม่และลูกจะได้เรียนรู้การดูดนมแม่ได้ดี จากการวิจัยพบว่า ถ้าลูกได้ดูดนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรก ลูกจะดูดนมแม่ได้อย่างถูกต้องสูงถึงร้อยละ 60 แต่ถ้าแยกแม่ แยกลูกตั้งแต่แรก ลูกจะดูดได้อย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 20 ทั้งนี้สัมผัสแรกจะทำให้ลูกได้รับภูมิคุ้มกันผ่านการสัมผัสผิวแม่ ส่วนการดูดแรกจะทำให้ลูกได้รับหัวน้ำนมหรือโคลอสตรัม (Colostrums) ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำนมเหลือง เป็นน้ำนมที่มีภูมิคุ้มกันโรคสูงที่สุด เร็วขึ้น ช่วยสร้างภูมิกันให้แก่ลูก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่พิสูจน์ได้แล้วว่าเด็กที่กินนมแม่ จะแข็งแรงหรือเจ็บป่วยน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม 2-7 เท่าตัว เนื่องจากในนมผสมไม่ได้ให้ภูมิคุ้มกันโรค การสัมผัสแรกและดูดแรกจึงเป็นพลังแรกของเส้นทางสู่ความสำเร็จการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และที่สำคัญเป็นจุดเริ่มแรกของการสร้างสายใยรักระหว่างแม่ ลูก ครอบครัว และสังคม นายสง่ากล่าวตอนท้าย ******************* 11 สิงหาคม 2550


   
   


View 18    12/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ