“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 417 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย-เมียนมาร์ ประชุมทวิภาคี ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อรับรองแผนปฏิบัติการร่วมพ.ศ.2559 - 2561 ผลความร่วมมือในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยโรคมาลาเรียชาวเมียนมาร์ลดลงถึงร้อยละ50 ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น รักษาหายขาดสูงถึงร้อยละ 80 และผู้ป่วยเอชไอวีได้กินยาต้านไวรัสต่อเนื่อง คุณภาพชีวิตดีขึ้น
วันนี้ (24 กรกฎาคม 2558) ที่ โรงแรมดุสิต ไอร์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย พร้อมด้วยนายแพทย์ธาน อุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ (H.E. Dr.Than Aung) เปิดประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทย-เมียนมาร์ครั้งที่ 2 (2nd Myanmar-Thailand Health Collaborative Ministeral Meeting)เพื่อสรุปผลการดำเนินการความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับเมียนมาร์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งหารือและรับรองแผนปฏิบัติการความร่วมมือ พ.ศ. 2559-2561
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพตามแนวชายแดน เพื่อร่วมมือดูแลสุขภาพและความปลอดภัยแก่ประชาชน เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อ มาตรฐานอาหารและยา ซึ่งหากทุกประเทศมีความเข้มแข็ง เชื่อมั่นว่าระบบการสาธารณสุขที่ดีระหว่างประเทศ จะช่วยหนุนระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและอาเซียนก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โดยผลความร่วมมือไทย-เมียนมาร์ตามที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อพ.ศ.2556 เช่น การควบคุมป้องกันโรคติดต่อ มีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ อาทิ ปัญหาโรคมาลาเรีย ได้ตั้งคลินิกมาลาเรีย 119 แห่งตามแนวชายแดนฝั่งพม่า สามารถตรวจเชื้อและรักษาได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยในภาพรวม 16 จังหวัดของเมียนมาร์ลดลงร้อยละ 50 จาก 45,000 รายใน พ.ศ. 2556 ลดเหลือ 20,000 รายใน พ.ศ.2557 แต่ที่ยังมีปัญหาคือเชื้อดื้อยาอาตีมิซินีล ที่ใช้รักษาเชื้อมาลาเรียชนิดพี.เอฟ.ที่ดีที่สุด เนื่องจากการเปิดพรมแดนประชาชนเคลื่อนย้ายตลอดเวลา โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและเมียวดี
ปัญหาต่อไปคือวัณโรค ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้นจากพ.ศ.2556 มีจำนวน 4,882 รายเพิ่มเป็น 5,523 ราย ในพ.ศ.2557 โดยผู้ป่วยกินยาครบรักษาหายขาดถึงร้อยละ 80 ในส่วนผู้ป่วยเอชไอวีเอชเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการที่มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่องร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลคู่แฝด 4 จังหวัด ทั้งนี้ ยังต้องเร่งรัดความเข้มข้นในเรื่องการเฝ้าระวังคุณภาพยาและอาหาร ยาสมุนไพร โดยเพิ่มศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4 แห่งที่เมียวดี ท่าขี้เหล็ก ทวายและเกาะสอง ให้ตรวจได้ถึงระดับโมเลกุล และเร่งรัดความร่วมมือด้านวิชาการ การฝึกอบรม การวิจัยร่วมกัน
********************************** 24 กรกฏาคม 2558