สาธารณสุข จัดโครงการโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ เชิญชวนประชาชนหยุดดื่มเหล้าตลอด 3 เดือนเข้าพรรษา ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. รวมกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ งดดื่มเหล้าเป็นตัวอย่างประชาชน โดยจะเปิดจุดลงปฏิญาณงดดื่ม ถวายพ่อหลวงในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยทุกแห่งทั่วประเทศ เริ่ม 30 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป พร้อมประกาศหนุนครอบครัวปลอดเหล้าในวันหยุดพักผ่อน
วันนี้ (27 กรกฎาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และศิลปิน ดารา ร่วมกันแถลงข่าว การจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ประจำปี 2550
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม - 26 ตุลาคม 2550 กระทรวงสาธารณสุขจะจัดโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ให้ประชาชนทำความดีถวายพ่อหลวง โดยร่วมมือกับองค์กรงดเหล้า 264 องค์กรทั่วประเทศ และสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริสุขภาพ เผยแพร่ให้ความรู้ ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นโทษ พิษ ภัย ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ทุกจังหวัด ซึ่งผลการวิจัยพบว่าในช่วงเทศกาลนี้ ชาวพุทธจำนวนมากถือเป็นช่วงสำคัญในการงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากขณะนี้คนไทยขึ้นชื่อว่าเป็นนักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่นติดอันดับ 5 ของโลก ดื่มเฉลี่ยคนละ 58 ลิตรต่อปี
เหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นสิ่งเสพติดที่นำอันตรายมาสู่สังคมไทยมากมายทั้งการเจ็บป่วยจากพิษเหล้าโดยตรง ปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุจราจร ที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนคือกลุ่มเยาวชน อายุ 15 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 24 ปี ซึ่งขณะนี้พบดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ 2 มีประมาณเกือบ 4 ล้านคน รองจากกลุ่มอายุ 24-59 ปี นายแพทย์มงคลกล่าว
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า ตลอดเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือนนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศ ร่วมงดเหล้า โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในสังกัดทั่วประเทศประมาณ 2 แสนคน รวมทั้งอสม.อีก 8 แสนคน ขอความร่วมมือให้งดเหล้า ปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขจะตั้งจุดให้ประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข ลงนามปฏิญาณตนงดดื่ม ที่โรงพยาบาลในสังกัดและสถานีอนามัยทุกแห่ง นอกจากนี้ขอให้ทุกครอบครัวใช้วันหยุดพักผ่อน ให้เป็นวันปลอดเหล้าของครอบครัวด้วย
ทั้งนี้การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จะต้องดำเนินมาตรการหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ทั้งกฎหมาย การรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เพื่อลดนักดื่มหน้าใหม่ ลดปริมาณการดื่มของประชากร รวมทั้งลดอันตรายจากการดื่ม เช่น อุบัติเหตุ ความรุนแรง และปัญหาสุขภาพ สำหรับความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2550 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ มาตรการควบคุมที่สำคัญได้แก่
1. จำกัดสถานที่ขาย เพราะจากการวิจัยพบว่าคนไทยสามารถหาซื้อสุราได้เฉลี่ยเพียง 7 นาที และการจำกัดสถานที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น วัด สถานศึกษา สถานที่ราชการ 2.จำกัดวันและเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวดมากขึ้น ร่วมกับห้ามจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ โดยให้ผู้ขายตรวจบัตรประชาชนผู้ซื้อ เพื่อป้องกันและลดนักดื่มหน้าใหม่ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน
3.ให้มีป้ายฉลากคำเตือนข้างขวด เช่น รูปภาพ ข้อความคำเตือน ให้ข้อมูลโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.ห้ามไม่ให้ใช้การขายแบบยั่วยุ หรือส่งเสริมการขาย เช่น การลด แลก แจก แถม เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนดื่มมากขึ้น 5.การห้ามโฆษณาในสื่อต่างๆ เช่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และโรงภาพยนตร์ รวมทั้งการเป็นสปอนเซอร์ในการจัดกิจกรรม โดยได้มีการกำหนดระเบียบการอนุญาตการโฆษณาและข้อยกเว้น ในสื่อแต่ละประเภทแตกต่างกันไป และ 6.มีการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการจะเลิก
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2549 พบประชาชนอายุ 11 ปีขึ้นไป ซึ่งมี 54.5 ล้านคน ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมาเกือบ 16 ล้านคน ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 5 เท่าตัว คนในภาคเหนือดื่มมากที่สุดร้อยละ 36 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 33 โดยกลุ่มอายุ 25-59 ปี ดื่มมากที่สุด พบร้อยละ 37 รองลงมาคืออายุ 15-24 ปี ร้อยละ 24 โดยเฉลี่ยคนไทยเริ่มดื่มเหล้าอายุ 20.2 ปี
ผลกระทบปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลักๆ ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากกว่า 60 โรค ที่พบมากคือ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ปัญหาอุบัติเหตุจราจรในปี 2549 มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 941,880 คน โดยมีสาเหตุมาจากเมาแล้วขับร้อยละ 40 ในช่วงปกติ และร้อยละ 60 ในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและสังคม ทำให้คนที่ดื่มเกิดความเครียดร้อยละ 51 มีอาการซึมเศร้าร้อยละ 49 มีความคิดฆ่าตัวตายร้อยละ 12 และคิดฆ่าคนอื่นร้อยละ 11 ครอบครัวที่ดื่มเหล้าจะเกิดปัญหาความรุนแรงมากกว่าครอบครัวที่ไม่ดื่มถึง 4 เท่าตัว วัยรุ่นที่มีพ่อเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 12 เท่าตัว และการดื่มสุรายังเป็นตัวชักนำปัญหายาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์และอาชญากรรมอื่นๆ โดยเด็กและเยาวชนที่ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะคดีข่มขืนและทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 38 ดื่มสุราก่อนกระทำความผิดไม่เกิน 5 ชั่วโมง ขณะกระทำความผิดยังมีอาการมึนเมาอยู่ ชี้ให้เห็นว่าการดื่มสุราเป็นตัวกระตุ้นให้เยาวชนกล้าที่จะทำผิดกฎหมาย
ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการณรงค์โครงการ งดเหล้าเข้าพรรษา ทำความดีถวายพ่อหลวง ปี 2550 กรมควบคุมโรคจะรณรงค์เผยแพร่ให้ความรู้ ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นโทษ พิษ ภัย ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างกระแสสังคมให้เห็นความสำคัญของเทศกาลเข้าพรรษา และการงดดื่มสุรา โดยจัดกิจกรรม วันพักผ่อนปลอดเหล้า เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนใช้เวลาในวันหยุดหรือในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา หรือช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันอย่างไร้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ โดยใช้มิติทางศาสนา ข้อห้ามตามหลักศาสนาต่างๆ เข้ามามีส่วนในกิจกรรม โดยจะจัดกิจกรรมที่ห้างเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน ในวันที่ 18 สิงหาคม 2550 โดยมีศิลปินจากอาร์เอสโปโมชั่น อาทิ คุณฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ เป็น พรีเซนเตอร์ในเรื่องนี้ด้วย
************************** 27 กรกฎาคม 2550
View 9
27/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ