กระทรวงสาธารณสุข ระดมความคิดเห็นจาก 5 เสือ นักบริหารส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เดินหน้าแนวทางปฏิรูประบบสาธารณสุขภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย 4 ด้าน ได้แก่ การตั้งองค์กรหลักกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขแห่งชาติ โดยเสนอให้มีคณะกรรมการอำนวยการสาธารณสุขแห่งชาติ ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ และสร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวังตรวจสอบถ่วงดุล

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้เชิญผู้บริหารในภูมิภาค ซึ่งเป็น 5 เสือของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสาธารณสุขอำเภอ เพื่อสื่อสารแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอต่อคณะกรรมมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติโดยมี  4 เรื่อง ได้แก่ 1.พัฒนากลไก การสร้างเอกภาพในการกำหนด นโยบาย สาธารณสุขของประเทศ โดยเสนอให้มีคณะกรรมการอำนวยการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Directing Board : NHDB) 2.ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ 3.ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ และ4.สร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล
          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า แนวทางการปฏิรูปทั้ง 4 เรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ต่อวาระสำคัญของประเทศที่กำลังจะปฏิรูป แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคณะกรรมการกับสภาปฏิรูปต่างๆ แต่นำเสนอในฐานะที่เป็นผู้จัดบริการ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีสถานบริการทุกระดับใหญ่สุดคือโรงพยาบาลศูนย์ถึงเล็กสุดคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวนเกือบ 10,000 แห่ง ทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศจนถึงหมู่บ้านและชุมชน  มี 25 วิชาชีพ จำนวนกว่า 3 แสนคน และให้บริการครอบคลุมประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ  ให้ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีวิธีคิดยังไง ระบบที่อยากจะจัดบริการเป็นอย่างไร  
          ด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวคิดที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอในการปฎิรูประบบสาธารณสุข ในเรื่ององค์กรหลักดูแลงานด้านสาธารณสุขของประเทศ:คณะกรรมการอำนวยการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Directing Board : NHDB) ได้ยึดแนวทางขององค์การอนามัยโลกเพื่อความมีเอกภาพ ในการกำหนดยุทธศาสตร์สุขภาพของประเทศ และกำกับการดำเนินงานตามนโยบาย อยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรี ส่วนเรื่องปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ  ก็มีงานวิจัยจากหลายประเทศ สรุปว่าการจัดระบบสุขภาพแบบเขตพื้นที่เป็นที่ยอมรับ นำไปสู่การจัดบริการที่เพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม โดยในไทยได้มีการศึกษาติดตามการทำงานเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 พบว่ากระทรวงสาธารณสุขเดินมาถูกทาง เพราะคนในพื้นที่ จะเข้าใจระบบมากกว่าส่วนกลาง และการใช้ทรัพยากรรวมกัน ทั้งเครื่องมอแพทย์ ห้องผ่าตัดหรือแม้แต่แพทย์ เป็นหลักการบริหารจัดการที่ดีในการบริหารรูปแบบเขตสุขภาพ รวมทั้งจากฉันทามติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ด้วย
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิรูประบบการเงินการคลังนั้น เป็นเรื่องที่มีการหารือกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้เสนอประกอบด้วย 1.ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจากภายนอก    2.ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรงบหลักประกันให้มีธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพ   3.ปฏิรูปโครงสร้าง จำนวนและที่มาของคณะกรรมการให้มีธรรมาภิบาล 4.ให้มีกลไกการกำกับการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้ง 5.ให้ปรับปรุงกฏหมาย พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545 
       ส่วนเรื่องธรรมาภิบาลนั้น  กระทรวงสาธารณสุขเสนอเพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการพัฒนาและรักษาระบบคุณธรรมในการบริหารกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังตรวจสอบและถ่วงดุล (Watch and Voice) การบริหารการจัดการทุกระดับให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และระบบคุณธรรมให้คงอยู่ รวมทั้งเพื่อร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรอื่นๆ นอกกระทรวงสาธารณสุข ในการแสดงพลังปกป้องระบบคุณธรรมในการบริหารประเทศ
********************* 13 กุมภาพันธ์ 2558


   
   


View 9    13/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ