รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยอนาคตประเทศไทยเสี่ยงเผชิญโรคติดต่อตัวใหม่ เพราะผลจากระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง วางระบบรับมือโดยตั้งเป้าผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเพิ่ม 350 คนภายใน 10 ปี สร้างความพร้อมรับมือหลังเปิดประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน และควบคุมโรคที่เกิดจากสัตว์และในคนอย่างมืออาชีพ ชี้ขณะนี้ไทยมีนักระบาดวิทยาทั่วประเทศเพียง 128 คน    
          วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2558) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 22 พร้อมมอบรางวัลเกียรติคุณระบาดวิทยา (สุชาติ เจตนเสน) ประจำปี 2557 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักระบาดวิทยาแห่งชาติ 2 รางวัล ได้แก่ 1.ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ จากผลงานสร้างและพัฒนาคนด้านระบาดวิทยา เปิดการเรียนการสอน ส่งเสริมการศึกษาวิจัยโดยใช้ความรู้ทางระบาดวิทยา และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสาธารณสุขสำคัญๆ ในภาคใต้ตอนล่าง จนถึงระดับชาติและนานาชาติ และ2.รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ความรู้ทางการแพทย์และระบาดวิทยาเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขโดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่ ผสมผสานการเฝ้าระวังโรคเข้ากับการบริการทางการแพทย์ และประเภทผลงานระบาดวิทยาดีเด่น ได้แก่ ทีมโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคไข้เลือดออกเดงกี่ในเด็ก จังหวัดราชบุรี เพื่อทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนเดงกี่ 2549 – 2555 โดยมีศ.เกียรติคุณ พญ.อรุณี ทรัพย์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าทีม
          ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ปัจจุบันระบบนิเวศวิทยาทั่วโลก เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื้อโรคมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และมีความเสี่ยงที่อาจมีโรคติดต่อตัวใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกตามมาอีก อาจมีต้นตอมาจากสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง หรือคนก็ได้ โดยเฉพาะหลังจากการเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคระบาดที่ไทยควบคุมสำเร็จแล้วได้อีก ซึ่งในรอบ 13 ปีมานี้ ประเทศไทยมีประสบการณ์รับมือเชื้อโรคอันตรายตัวใหม่ ซึ่งล้วนเป็นเชื้อไวรัสหลายโรคเป็นผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับระดับโลก เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และอีโบลา เป็นต้น เครื่องมือที่ทำให้แก้ไขปัญหาทางสุขภาพได้สำเร็จของไทยคือความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการค้นหาปัญหา สาเหตุ และปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ในการเกิดโรค และแนวทางจัดการปัญหาเพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคต่างๆ ทั้งในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติ
           เรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งดำเนินการก็คือการเร่งผลิตนักระบาดวิทยา เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนามเพียง 128 คน ร้อยละ 60 ปฏิบัติงานในต่างจังหวัด เฉลี่ย 1 คนต่อประชากร 350,000 คน ซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานโลก ดังนั้นจึงได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาแพทย์ ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เพิ่มให้ได้จำนวน 350 คนภายในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2558-2567 เฉลี่ยนักระบาดวิทยา 1 คนต่อประชากร 200,000 คน โดยไทยตั้งเป้าเป็นผู้นำในภูมิภาคทางด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ภายในปี 2563 
             ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2558 มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 600 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข จากกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค อาจารย์จากมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้สนใจงานด้านระบาดวิทยา และสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ ผลงานการศึกษาวิจัย มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการด้านระบาดวิทยาของประเทศไทยและอาเซียน หลายเรื่องอาทิ สิ่งที่ท้าท้ายนักระบาดวิทยาในปี 2558 เช่นพฤติกรรมวัยรุ่นกับการเสพยาเสพติด ระบาดวิทยาไวรัสตับอักเสบซี
           ในการสัมมนาระบาดวิทยาครั้งนี้ มีผู้เสนอบทคัดย่อทางวิชาการทั้งสิ้น 198 เรื่อง ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอในห้องสัมมนา 40 เรื่อง และนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ 48 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้เปิดมิติใหม่เพื่อให้ปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ด้านระบาดวิทยาให้กับนิสิต นักศึกษา ที่กำลังเรียนในสาขาด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วย
     **********************        5 กุมภาพันธ์ 2558


   
   


View 17    05/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ