รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอในเวทีประชุมโภชนาการโลกที่อิตาลี  ให้องค์การอนามัยโลกกำหนดยุทธศาสตร์อาหาร ทั้งด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ  พิชิต 3 ปัญหาสุขภาพระดับโลกคือ โรคขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน และโรคอ้วน ให้บรรลุผลตามเป้าหมายภายในปี 2568 พร้อมประกาศว่าไทยจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารได้สำเร็จก่อนเป้า เนื่องจากใช้ระบบการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

            ศาตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเข้าร่วมประชุมโภชนาการระดับโลก ซึ่งจัดที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2557 ว่า การประชุมครั้งนี้ มีผู้นำด้านสุขภาพและการเกษตรระดับโลก รัฐมนตรีจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรกว่า 170 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาโภชนาการที่สำคัญระดับโลกขณะนี้ ได้แก่ โรคขาดสารอาหาร โรคขาดวิตามิน เช่นวิตามินเอ วิตามินบี และ โรคอ้วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ทางโภชนาการขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดในปี พ.ศ. 2568 หรือ ค.ศ. 2025  

       ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนการดำเนินนโยบายที่จำเป็น โดยเสนอให้เน้นมาตรการแก้ไขปัญหา 2 เรื่องควบคู่กันคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหารกับเรื่องโภชนาการอย่างจริงจัง เนื่องจากผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของรายได้  การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปิดเขตการค้าเสรี  ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน และการเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิต การบริโภคอาหาร ส่งผลต่อวิถีการบริโภคอาหารและภาวะโภชนาการของประชาชนในวงกว้าง เช่น กรณีของประเทศไทย พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีน้ำตาลและเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่สูง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน  และเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเอ็นซีดี (NCDs) เช่น มะเร็ง เบาหวาน ตามมาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ    

            “ประเทศไทย ในฐานะเป็น 1 ในแหล่งอาหารสำคัญของโลก  ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกประเทศในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินนโยบายทางโภชนาการร่วมกับหน่วยงานภาคีทุกระดับ โดยมีความมุ่งมั่นจะกวาดล้างปัญหาขาดสารอาหารให้หมดไปจากประเทศ ให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2568” ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าว 

            ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่ออีกว่า  จุดเด่นของมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารของไทย คือการสร้างการมีส่วนร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยออกพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ผลักดันนโยบายเกี่ยวระบบการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและเหมาะสมต่อการบริโภคและมีคุณค่าทางโภชนาการ เชื่อมโยงกันทั้งหน่วยงานทางการเกษตร สุขภาพ และชุมชน ได้รับความสนใจจากที่ประชุม โดยประเทศไทยได้รับเกียรติ ทำหน้าที่เป็นรองประธานการประชุมครั้งนี้ นับว่าไทยเป็นประเทศเดียวในแถบอาเซียนที่ได้รับเป็นเกียรติให้ทำหน้าที่ดังกล่าว 

******************************* 20 พฤศจิกายน 2557



   
   


View 19    20/11/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ