สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 163 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย ได้รับเชิญจากทำเนียบขาว ให้เดินทางร่วมประชุมหารือความร่วมมือ 3 ยุทธศาสตร์ ความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก ได้แก่ การป้องกันโรคระบาดที่ป้องกันได้ การตรวจจับสัญญาณภัยคุกคามการระบาด และการตอบโต้ภัยคุกคาม อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 26 กันยายน 2557 นับเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์คนแรกที่ได้เข้าทำเนียบขาว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำคณะผู้แทนประเทศไทย ประชุมหารือเกี่ยวกับวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Agenda : GHSA) ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 26 กันยายน 2557 ตามคำเชิญของนางซูซาน อี ไรซ์ ผู้ช่วยประธานาธิบดี ด้านกิจการความมั่นคงแห่งชาติ (Assistant to the President for National Security Affairs) ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และรัฐมนตรีสาธารณสุข 30 ประเทศ เพื่อพิจารณาทบทวนคำมั่นของประเทศพันธมิตร ที่ได้ร่วมกับศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control) กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health and Human Services) สหภาพยุโรป (European Union) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) องค์กรสุขภาพสัตว์นานาชาติ (World Organization for Animal Health) ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ได้เร่งพัฒนาสมรรถนะในการป้องกันภาวะคุกคามจากโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ เป็นไปตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันปกป้องลดผลกระทบต่อสุขภาพประชากรโลก ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์วาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกที่สำคัญตามที่สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรได้ร่วมกันจัดทำขึ้นและเป็นกรอบร่วมกันพิจารณาในที่ประชุมครั้งนี้ มี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การป้องกันโรคระบาดที่สามารถป้องกันได้ การป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน การส่งเสริมมาตรการความปลอดภัย การลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทางห้องตรวจปฏิบัติการ (biosafety and biosecurity) และการสนับสนุนมาตรการด้านวัคซีน 2.การตรวจจับภัยคุกคามให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยพัฒนา 4 ด้าน คือเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขให้ครอบคลุมทั้งประเทศ พัฒนาระบบเฝ้าระวังทางสาธารณสุขทั้งระดับชาติและนานาชาติให้สามารถตรวจจับภัยคุกคามจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ พัฒนากลไกการรายงานภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขด้วยความโปร่งใสและรวดเร็ว และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข
3.การตอบโต้ภัยคุกคามอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยการพัฒนาศักยภาพศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operations Center) สร้างกลไกการประสานงานระหว่างผู้รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุขและผู้บังคับใช้กฎหมายในการรับมือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถส่งต่อความช่วยเหลือ ทั้งด้านกำลังคนและเวชภัณฑ์ ไปยังประเทศที่เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถด้านการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค และขีดความสามารถด้านห้องปฏิบัติการ รวมทั้งจะร่วมสนับสนุนการดำเนินการด้านเชื้อจุลชีพดื้อยาด้วย
ในวาระนี้ ศ.นพ.รัชตะ จะได้แสดงเจตจำนงในการที่ประเทศไทยกำลังวางแผนให้การสนับสนุนองค์การอนามัยโลกด้านวิชาการและบุคลากร ในการควบคุมโรคอีโบลาใน 5 ประเทศอาฟริกาตะวันตกอีกด้วย ซึ่งต่างประเทศได้ให้การชื่นชมมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขไทยว่าสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี
******************************* 25 กันยายน 2557