กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการหมอ พยาบาลในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ให้พร้อมบริการในภาวะวิกฤติ ตั้งโรงพยาบาลหาดใหญ่และยะลาเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ตลอด 24 ชั่วโมง และผลิตผู้ช่วยเหลือพยาบาล 300 คน บรรเทาขาดแคลนพยาบาลระยะสั้น เพิ่มซี 7 เป็นขวัญกำลังใจหัวหน้าสถานีอนามัย 320 ตำแหน่ง
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมฟื้นฟูวิชาการแก่ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสตูลจำนวนกว่า 400 คน ที่โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี เมื่อเช้าวันนี้ (9 กรกฎาคม 2550) ว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้มีความสำคัญมากต่อการพัฒนางานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยและปฏิบัติงานท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบ จึงต้องมีการพัฒนาความรู้ที่จำเป็น และปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาตามการสถานการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ การบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธสงคราม ซึ่งมีความรุนแรงต่ออวัยวะหลายส่วน การทำงานอย่างมีความสุขในสถานการณ์ไม่สงบ และการเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์เยียวยาดังกล่าวแล้วในโรงพยาบาลทุกแห่งรวม 37 แห่ง และจะอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. หมู่บ้านละ 1 คน ทั้งหมด 2,000 คน เพื่อให้สามารถปฐมพยาบาลจิตใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบได้
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า แผนการพัฒนาการสาธารณสุขในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เน้นการให้บริการสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนโดยไม่แบ่งแยกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต การป้องกัน ควบคุมโรค และการรักษาพยาบาล โดยในการบรรเทาปัญหาการขาดแพทย์และบุคลากรอื่นๆ ได้ตั้งโรงพยาบาลหาดใหญ่และโรงพยาบาลยะลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขา ให้เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บจากโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล และจัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ในการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมงด้วย เพราะสถานการณ์ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บเกิดขึ้นรายวัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งยังต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ถึงร้อยละ 30 นอกจากผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มอีก 3,000 คนแล้ว ในปีนี้ได้เพิ่มหลักสูตรผู้ช่วยเหลือพยาบาล เป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 ปี บรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าจำนวน 300 คน อบรมที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.ยะลา จ.สงขลา และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จะสำเร็จและเข้าทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ ในกลางปีหน้านี้ และเพิ่มขวัญกำลังใจบุคลากร โดยขอตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอให้เป็นระดับ 8 ให้หัวหน้าสถานีอนามัยทั้งหมด 320 แห่ง เป็นระดับ 7 ทุกแห่ง ขณะนี้ได้แล้ว 124 แห่ง ที่เหลือคาดว่าจะได้ในปีนี้ทั้งหมด
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท แก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช่น ไข้เลือดออก โรคเรื้อน มาลาเรีย ก่อสร้างอาคารอำนวยการโรงพยาบาลระแงะ สร้างโรงพยาบาลยี่งอขนาด 30 เตียง สร้างรั้วและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ประจำสถานีอนามัย และในปี 2551 ได้จัดงบกว่า 320 ล้านบาท ก่อสร้างหอผู้ป่วยในให้โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อ.นาทวี จ.สงขลาและศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาประจำโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
********************** 9 กรกฎาคม 2550
View 9
09/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ