กระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อ 8 จังหวัดภาคเหนือ พบยอดผู้ป่วยกว่า 120,000 ราย สูญค่ารักษากว่า 83 ล้านบาท เร่งถ่ายทอดความรู้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะการช่วยลดภาวะโลกร้อน ให้อสม. ช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลแหล่งก่อมลพิษ ให้ความรู้ชาวบ้านช่วยรักษาป่า แจ้งสถานีอนามัยทันทีหากเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
เช้าวันนี้ (9 กรกฎาคม 2550) ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมถ่ายทอดความรู้ ด้านการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ แก่แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่เทศบาล อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ตลอดจนเครือข่าย สสส. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 400 คน หลังจากที่เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือขึ้นในปี 2550 เพื่อให้บุคลากรหน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ มีความรู้ความเข้าใจ สามารถให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวในการป้องกันควบคุม และแก้ไขผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษหมอกควันแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนสาธิตวิธีการใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นและหมอกควันที่ถูกต้องด้วย
นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2550 ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการเผาป่าทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียง ทำให้ภาคเหนือได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง 8 จังหวัด โดยกรมควบคุมมลพิษได้รายงานการตรวจวัด ณ สถานีตรวจวัดจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง พบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานมากวัดได้ถึง 380 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยมีผู้เจ็บป่วยที่เกิดจากปัญหาหมอกควันในช่วงดังกล่าวกว่า 120,000 ราย ทำให้สูญเสียงบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 83 ล้านบาท โรคที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคผิวหนัง โรคตา และอุบัติเหตุ
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าเจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ในเรื่องผลกระทบหมอกควันไฟ และความเข้าใจด้านการป้องกันควบคุมและแก้ไขปัญหาจากสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ เป็นต้น รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวางแผนแก้ไขได้ทันเวลา
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวได้เน้นบทบาท อสม.ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดชุมชน โดยเบื้องต้นให้ อสม. ร่วมสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลชุมชนและแหล่งก่อมลพิษในชุมชน เช่น การเผาป่า เผาขยะ การปล่อยสารพิษในสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้ชาวบ้านในการรักษาสภาพแวดล้อม รักษาป่าเพื่อคงความเป็นธรรมชาติในชุมชน เมื่อเกิดไฟไหม้ให้ร่วมกับชุมชนประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น และเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของชาวบ้าน แล้วจัดทำรายงานความเสี่ยงเบื้องต้นให้สถานีอนามัย นอกจากนี้ ให้แจ้งสถานีอนามัยทันทีในกรณีมีเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ นายแพทย์วัลลภ กล่าว
******************************* 9 กรกฎาคม 2550
View 10
09/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ