สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 163 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้ชื่นชอบรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ เช่น หมูกระทะปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก ลาบ หลู้หมูดิบ เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ อันตรายอาจหูหนวกหรือเสียชีวิต ปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 151 ราย เสียชีวิต 12 ราย พบผู้ป่วยได้บ่อยช่วงเทศกาล ที่มีการเลี้ยงสังสรรค์ กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิต
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูฝน ในฟาร์มหรือสถานเลี้ยงสัตว์มีความอับชื้น ทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในสุกรที่เป็นสัตว์นำเชื้อแบคทีเรีย ชื่อสเตร็บโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ที่ติดมาสู่คนพบได้บ่อยและมีอันตรายสูงถึงขั้นเสียชีวิต คือ โรคไข้หูดับ ทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย ติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา และจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงดิบหรือสุกๆดิบๆ ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก พบได้ร้อยละ 54-80 ส่วนอัตราเสียชีวิตพบได้ร้อยละ 5-20
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 8 สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วย 151ราย เสียชีวิต 12 ราย ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน เมื่อเสร็จการการทำงานมักมีการสังสรรค์ หรือในงานเทศกาล งานแต่งงาน งานบวช ที่มักจะมีการดื่มสุราร่วมกับการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกๆดิบๆ เช่น หมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก ลาบ หลู้ หมูดิบ ดังนั้นได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงก่อนงานเทศกาลสำคัญต่างๆ ให้งดเมนูหมูสุกๆ ดิบๆ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อสเตรปโตค็อคคัส ซูอิส เข้าไปในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบ คือไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด การป้องกันการติดโรค ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมูสัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หลังงานเสร็จให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และดูแลฟาร์มเลี้ยงให้สะอาดอยู่เสมอ ส่วนประชาชน ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ และให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อน นานอย่างน้อย 10 นาที หรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูสุกๆดิบๆ ทั้งนี้ หากมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที มียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
************************* 17 สิงหาคม 2557