กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน ระวังโรคฉี่หนูหน้าฝน พื้นดินเฉอะแฉะ มีแอ่งน้ำขังจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่มีบาดแผลที่ขาและเท้า ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษระวังอย่าให้น้ำเข้าแผล เผยในรอบเกือบ 7 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วย 861 ราย ใน 61 จังหวัด เสียชีวิต 7 ราย ชายป่วยสูงกว่าหญิงเฉลี่ย 5 เท่าตัว ภาคใต้มีอัตราป่วยสูงที่สุด แนะสวมรองเท้ายางหากต้องลุยน้ำลุยโคลน ดูแลบ้านให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู  และหากป่วยมีไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่อง เจ็บคอ ท้องเสีย ให้รีบพบแพทย์หรือหน่วยแพทย์ในพื้นที่บริการด่วนที่สุด ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
 
          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในฤดูฝนทุกปี มีหลายโรคที่มีแนวโน้มพบมากขึ้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย  เชื้อโรคนี้ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น หนู สุนัข แมว สุกร โค กระบือ ม้า แพะ แกะ ฯลฯ โดยมีหนูเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ แต่สัตว์ต่างๆ อาจไม่แสดงอาการป่วย โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของสัตว์ เข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆ โรคนี้แม้ว่ามียารักษาหาย แต่อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากได้รับการดูแลรักษาไม่ถูกต้องหรือล่าช้า ซึ่งในฤดูฝน สภาพพื้นดินจะมีดินโคลนชื้นแฉะ มีแอ่งน้ำขังจำนวนมาก อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนได้ง่ายและเชื้ออยู่ในน้ำได้นาน
 
          จากรายงานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 - 14 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 861 ราย ใน 61 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 7 ราย พบได้ทั้งผู้ที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมือง กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือวัยแรงงงาน 25-54 ปี  ผู้ป่วยเป็นชายมากกว่าหญิง ถึง 5 เท่าตัว  กว่าครึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป  เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่า 3 ใน 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากร มากที่สุด อยู่ในภาคใต้ ได้แก่ สตูล ระนอง และยะลา ส่วนอีก 2 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ และศรีสะเกษ  ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่อาจติดเชื้อและป่วยซ้ำได้อีก   
 
          ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อแล้ว ยังพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ แมว แพะ แกะ ก็แพร่เชื้อได้เช่นกัน เชื้อโรคนี้จะออกมาพร้อมกับฉี่ของสัตว์ดังกล่าว แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อโรคฉี่หนู สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานานจนอ่อนนุ่ม  และติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปก็ได้  ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 2-3วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์
 
อาการที่สำคัญ คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท อาจถึงตายได้ โดยอัตราการตายอาจสูงถึงร้อยละ10-40  หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู และให้รีบไปพบแพทย์  เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ อย่าซื้อยารับประทานเอง        
                                                     
          นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า จากการติดตามประวัติในกลุ่มที่เสียชีวิต   พบว่าส่วนใหญ่มักจะซื้อยากินเองก่อน    โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้  เพราะเข้าใจว่าเป็นไข้ทั่วไปที่เกิดมาจากการทำงานหนัก   จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้น เชื้อโรคเข้าไปทำลายอวัยวะอื่น เช่น ไต ทำให้ไตวาย และเสียชีวิตได้
 
          นายแพทย์โสภณ กล่าวต่ออีกว่า ในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนูในช่วงหน้าฝน ซึ่งบางพื้นที่อาจมีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม มีคำแนะนำดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน  โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีปัญหามึนชาที่เท้า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ  มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง  2. ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา    คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ทยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ  3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน 4. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู  และ 5. ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ  ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป 0 2590 3177 – 8 และ 02-590-3183 หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 
 
**********************************  20 กรกฎาคม 2557
 
 


   
   


View 18    20/07/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ