"สมศักดิ์" ส่งผู้แทน สธ.ไทย โชว์ศักยภาพนับคาร์บ ลด NCDs - ระบบ IT การเงินด้านสุขภาพ บนเวทีโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 126 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเวทีสรุปผลการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติระหว่างประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน โดยจำลองสถานการณ์เสมือนจริงที่สุด ทั้งการประสานทีมแพทย์จากต่างประเทศ การฝึกซ้อมแผนภาคสนาม การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางบก น้ำ อากาศ ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต โรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ช่วยให้เผชิญกับภัยพิบัติ ลดการสูญเสียของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมฝึกซ้อมอย่างพร้อมเพรียง
วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2568) ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสรุปผลการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 6 (The 6th Regional Collaboration Drill) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีนายทัตสึฮิ นิชิโอกะ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตและอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำเอสแคป (ESCAP) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายโยสุเกะ โคบายาชิ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์จากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภัยพิบัติมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น พายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพทีมแพทย์ในการตอบโต้ภัยพิบัติร่วมกันระดับอาเซียนและทีมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไปตามปฏิญญาผู้นำอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุข และปฏิญญาอาเซียนหนึ่งเดียวตอบโต้ภัยพิบัติทั้งในและนอกภูมิภาค หรือ One ASEAN One Response ที่เน้นย้ำความสำคัญของความเป็นปึกแผ่น การประสานงานและการลงมือปฏิบัติร่วมกันในการรับมือภัยพิบัติ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การฝึกซ้อมแต่ละครั้ง ประเทศสมาชิกอาเซียนจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยการฝึกซ้อมแผนฯ ครั้งที่ 6 นี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพดำเนินการ มีการจำลองสถานการณ์เหตุภัยพิบัติขนาดใหญ่ (ระดับ 4) ที่เสมือนจริงที่สุด ตั้งแต่กระบวนการที่สนามบิน ทดสอบกระบวนการสำคัญในการรับทีมแพทย์ มีการฝึกซ้อมแผนภาคสนาม 3 จังหวัด 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี การซ้อมเคลื่อนย้ายลำเลียงผู้ป่วยทางบก น้ำ อากาศ และความร่วมมือกับกองทัพ รวมถึงการกำจัดสารพิษ การประเมินความต้องการด้านสุขภาพ สุขภาพจิต โรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ซึ่งนอกจากเป็นการประเมินขีดความสามารถของประเทศไทยในการประสานรับทีมฉุกเฉินต่างชาติในภาวะภัยพิบัติ ยังช่วยพัฒนาความพร้อมของระบบสาธารณสุขและการแพทย์ฉุกเฉินไทยเมื่อเกิดภัยพิบัติ
"การฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้ช่วยให้ประเทศไทยและอาเซียนได้เตรียมความพร้อม ฝึกประสานงานเมื่อต้องประสบภัยพิบัติและต้องขอรับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศอาเซียน สามารถนำบทเรียนไปพัฒนาประเทศของตนเองให้ดียิ่งขึ้น และร่วมมือกันเผชิญกับภัยพิบัติ ลดการสูญเสียของประชาชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องขอขอบคุณญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียนที่ทำให้การฝึกซ้อมในครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จ และเกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างยั่งยืน" นายสมศักดิ์กล่าว
สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมฝึกซ้อมแผนครั้งนี้ นอกจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักการแพทย์ กทม. ศูนย์เอราวัณ ศูนย์ภัยพิบัติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมศุลกากร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารอากาศ WHO ประเทศไทย และ WHO ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
***************************************** 13 กุมภาพันธ์ 2568