กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เตรียมพร้อมรองรับแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาไหลกลับไทย 1.3 แสนคน ตามนโยบายเร่งด่วนของ คสช. ให้โรงพยาบาลในสังกัดเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว ให้บริการตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพ อำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว โดยปรับลดค่าตรวจสุขภาพเหลือ 500 บาท ส่วนบัตรประกันสุขภาพเหลือ 1,600 บาท แต่สิทธิประโยชน์เท่าเดิม พร้อมนำร่องใช้สมุทรสาครโมเดล นำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ตรวจสุขภาพและทำบัตรประกันสุขภาพให้ถูกกฎหมาย เริ่ม 1 กรกฎาคม 2557 หากได้ผลดีจะขยายผลไปทั่วประเทศ
เช้าวันนี้ (25 มิถุนายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป้าหมายรองรับการไหลกลับของแรงงานชาวกัมพูชา ที่คาดว่าจะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศประมาณ 1.3 แสนคน ตามนโยบายเร่งด่วนของ คสช. ที่ผ่อนปรนให้กระทรวงมหาดไทยออกบัตรประจำตัวชั่วคราว อายุ 60 วัน ให้แก่แรงงานดังกล่าว ที่ศูนย์พักรอ แบบไม่พักค้างรอนายจ้างมารับ ที่สระแก้ว ตราด สุรินทร์ และศรีษะเกษ ว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในจังหวัดปลายทางที่คาดว่าจะมีชาวกัมพูชาเดินทางไปทำงาน เช่น ชลบุรี ระยอง ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) บริการการตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว กรณีที่ยังไม่มีการตรวจสุขภาพหรือประกันสุขภาพ โดยให้ประสานจำนวนแรงานต่างด้าวกับจัดหางานจังหวัด ทั้งนี้ ได้ปรับลดค่าตรวจสุขภาพจากเดิม 600 บาท เหลือ 500 บาท ส่วนบัตรประกันสุขภาพลดจาก 2,200 บาท เหลือ 1,600 บาท สิทธิประโยชน์เท่าเดิม บัตรมีอายุ 1 ปี โดยแรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ จะได้รับบริการขั้นพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การป้องกันควบคุมโรค และอนามัยสิ่งแวดล้อม
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่รอพิสูจน์สัญชาติประมาณ 1.8 ล้านคน นำเข้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศจำนวน 3 แสนคน โดยมีแรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 4 แสนคน อยู่ในระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 4 แสนคน และประกันสุขภาพเด็กอีก 1 หมื่นคน นอกจากนี้ ยังมีแรงงานบางประเภท เช่น คนรับใช้ตามบ้าน ประมง เกษตรกร และผู้ติดตามประมาณ 1 ล้านที่ไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพใดๆ โดยในปี 2555 มีแรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพ 587,000 คน พบป่วยเป็นวัณโรค 2,034 คน อยู่ในระยะแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ 195 คน โรคซิฟิลิส 1,359 คน โรคเท้าช้าง 38 คน สารเสพติด 321คน และโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแรงงานต่างด้าวที่เจ็บป่วยที่เก็บเงินไม่ได้ในปี 2555 กว่า 300 ล้านบาท จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำแรงงานต่างด้าวทั้งหมดเข้ารับการตรวจสุขภาพและมีบัตรประกันสุขภาพ เพื่อเข้าสู่ระบบบริการ ทั้งรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ให้แรงงานมีสุขภาพดี และไม่ให้กระทบกับสุขภาพคนไทย
สำหรับในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ทั้งหมดให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ เพื่อประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ
ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ โดยจะใช้สมุทรสาครโมเดล ที่จะเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทั้งหมดในจังหวัดสมุทรสาครมาขึ้นทะเบียนเพิ่ม โดยกระทรวงมหาดไทยจะออกบัตรประจำตัวชั่วคราวอายุ 60 วัน และให้แรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไปรับการตรวจสุขภาพและทำหลักประกันสุขภาพ ที่โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ใช้อัตราค่าตรวจและค่าประกันสุขภาพเช่นเดียวกับแรงงานกัมพูชา โดยจะเริ่มดำเนินการ 1 กรกฎาคม 2557 หากดำเนินการได้ผลดีจะขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ อีก 22 จังหวัด ที่มีแรงงานต่างด้าวและทั่วประเทศทั่วไป
******************************* 25 มิถุนายน 2557